เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้ถ้อยคำต่อ กกต.กรณีขอให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกของพรรค กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเป็นการกระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่าวันนี้นอกจากมาให้ถ้อยคำ ยังได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเป็นกรณีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญที่ 20/2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง โดยศาลให้มีผลนับแต่วันสมัคร ส.ส. คือวันที่ 6 ก.พ. 62 โดยเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาล ดังกล่าวยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่ได้มีการวางหลักต้องถือมากน้อยแค่ไหน

โดยนายธัญญ์วาริน ถือหุ้นอยู่ใน 2 กิจการ ต่างจากนายพิธา ที่ถือหุ้นไอทีวี แต่ต่อมาในปี 64 กกต.ก็ได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้มาวินิจฉัยผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.จากการเลือกตั้งเมื่อปี 62 รวม 4 คำวินิจฉัย และมีการสั่งดำเนินคดีอาญาด้วย ทำให้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงนายพิธา ถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 51 และปี 62 นายพิธา เป็นผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ หากวันนี้กกต.จะวินิจฉัยเรื่องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ก็ต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของ กกต. โดยจะต้องย้อนไปพิจารณาว่า การถือหุ้นไอทีวีดังกล่าวของนายพิธา ก่อนปี 62 และถือต่อเนื่องมานั้น เป็นเหตุให้นายพิธา สิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ปี 62 โดยต้องมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่นายพิธา ยื่นสมัครคือวันที่ 6 ก.พ. ใช่หรือไม่

“การที่นายพิธา ได้มาเป็น ส.ส. มีการโหวตกฎหมายต่างๆ ไป ไม่ได้มีผลทำให้กฎหมายเหล่านั้นต้องเสียไป แต่เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเพิ่มผู้ช่วยผู้ชำนาญการรวมอีก 8 คน อาจจะมีปัญหาได้ จากข้อเท็จจริงนี้จำเป็นที่กกต.จะต้องย้อนกลับไปตรวจสอบคุณพิธา เมื่อปี 62 ว่าสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.หรือไม่ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของกกต.ที่ 1-4 /2564 1, 2, 3 และ 9/2564 ที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เอง”

เมื่อถามได้ยื่นตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพของนายพิธา เมื่อปี 62 ด้วยหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่าถือเป็นการกระทำ 2 กรรม และเมื่อพบว่านายพิธายังคงถือหุ้นบริษัทไอทีวี ในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ปี 66 และในฐานะหัวหน้าพรรคที่เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส. เขตเกือบ 400 เขตและ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ขอให้วินิจฉัยว่านายพิธาจะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่ และในฐานะผู้ยินยอมให้พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จึงนำมาตรา 98 มาบังคับใช้ด้วย

ส่วนที่นักวิชาการหญิงรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งในลักษณะว่าไม่มีปัญหา เมื่อขายหุ้นเรื่องก็จบ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก และจะทำให้สังคมและประชาชนเกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก โดยหากผิดก็ผิดตั้งแต่วันลงสมัครรับเลือกตั้ง ตนได้เก็บรวมรวมข้อมูลที่มีการเผยแพร่เรื่องผ่านสื่อออนไลน์แล้ว ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23 และ 24 บังคับครอบคลุมไปถึงบัญชีนายรัฐมนตรีด้วย เมื่อออกแล้วมาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อให้ได้ 376 เสียง ตนก็เห็นว่าขาดคุณสมบัติและหากได้รับเลือกเป็นนายกฯตนก็จะร้องเรียน อาจจะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จึงอยากให้ทั้งนักกฎหมาย ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ไปทำความเข้าใจข้อกฎหมายอย่างถ่องแท้ อ่านกฎหมายให้แม่นๆ

นายเรืองไกร ยังกล่าวอีกว่า นอกจากร้อง กกต.โดยตรงตอนนี้แล้ว เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ตนก็ไปขอร้องให้ ส.ส.และ สว. หรือสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งคำร้องให้ตรวจสอบคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ กกต. ตามแนวทางที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 51 จนนายสมัครพ้นจากนายกฯ เพราะคำพิพากษาว่าเป็นลูกจ้าง จากหลักฐานใบหักภาษี ภงด.3 ไม่ได้ยึดตามพจนานุกรม เช่นเดียวกับกรณีของนายพิธาก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.6 ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ซึ่ง กกต.ควรจะต้องนำไปประกอบการพิจารณา ส่วนผู้วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าขณะนี้ประเทศกำลังเดินหน้าการมายื่นร้องคัดค้านจะทำให้การเดินหน้าสะดุดหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า เป็นคนละประเด็นกัน ประเทศเดินหน้าก็เดินหน้าไป ส่วนคนที่ทำผิดหรือเข้าข่ายถูกตรวจสอบก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

นายเรืองไกรยังกล่าวอีกว่า วันนี้มาให้ถ้อยคำต่อ กกต.เป็นครั้งแรก แต่ได้ยื่นเอกสารเรื่องดังกล่าว 6 ครั้ง และยังมีเอกสารเพิ่มเติมอีก คือคำสั่งศาลปกครองและมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับบริษัทไอทีวี และการรายงานสถานการณ์จนถึงปี 64 ทั้งนี้ นายเรืองไกรได้พยายามยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการกิจการอยู่