เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับพรรคก้าวไกล โดยนายพิธากล่าวว่าวันนี้เป็นการนำทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลเข้ามาพูดคุยกับหอการค้าและสภาหอการค้าฯ โดยมี 13 ประเด็น ตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น อีอีซี การบริหารเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารเศรษฐกิจชายแดน เป็นต้น เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา ขณะเดียวกันตนได้อัพเดทให้ภาคเอกชนผ่านทางประธานหอการค้าไปว่า ตอนนี้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลไปถึงไหนและคณะกรรมการประสานงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านมีหน้าที่อะไรบ้าง และครั้งหน้าเมื่อมีคณะกรรมการเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเอสเอ็มอีแล้วก็จะกลับมาพูดคุยกันในหลายๆ ประเด็นที่เป็นที่สนใจของภาคเอกชนและรัฐบาลเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออก ตัวเลขเศรษฐกิจและค่าเงินเฟ้อในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เป็นต้น

ทางด้านนายสนั่น กล่าวว่าเป็นการพบปะที่สร้างสรรค์และเรารู้สึกสบายใจว่าเกี่ยวกับเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่องที่ต้องเห็นใจว่าทางพรรคก้าวไกลเองต้องทำงานร่วมกับทางพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งส่วนนี้ตนคิดว่าต้องมีการประชุมกัน ทางหอการค้าก็ได้มอบหมายให้มีนายกฤษณะ วจีไกรลาส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยติดตามประสาน ขณะเดียวกันทางพรรคก้าวไกล มอบหมายให้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค เป็นผู้ประสานงาน ตนคิดว่าอันนี้มีความชัดเจนมาก

ขณะเดียวกันเราได้คุยเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ที่ทุกคนต้องการรู้ว่าตนและนายพิธาคิดอย่างไร ตนคิดว่าเราได้มีการอภิปรายมากพอสมควร ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก ทางหอการค้าเองเห็นว่าการขึ้นค่าแรงนั้นเราเห็นด้วย เพียงแต่ว่าจังหวะเวลาและอัตราในการขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนายพิธาบอกว่าเรื่องเหล่านี้เราคงจะได้มีการจับเข่าคุยกัน ส่วนที่สำคัญที่สุดคือเราอยากเห็นมีการตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด วันนี้ได้เห็นแล้วว่าไทม์ไลน์มันจะเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ก็น่าจะประมาณภายในเดือน ก.ย. ถ้าเป็นไปได้

อีกเรื่องหนึ่งคือเราห่วงที่สุดในเรื่องงบประมาณรายจ่าย เราห่วงในเรื่องที่ว่าการทำงบประมาณฐานศูนย์ของไทยเราก็เคยทำในเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ห่วงว่าถ้าเราทำในช่วงที่มีเวลาจำกัด จะทำให้งบประมาณเบิกจ่ายไม่ทัน กระทบเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้ เราเห็นด้วยว่าเรื่องงบประมาณมีความสำคัญมากและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ทุกคนพร้อมสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุดเป็นเรื่องแรก เรื่องที่สองคือเรื่องพลังงานที่ทุกคนเดือดร้อน และสามเกี่ยวกับเรื่องทางภาคเกษตรและเอสเอ็มอีที่ต้องมีมาตรการต่อลมหายใจให้เร็วที่สุดอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตามการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เสียงของประชาชนเห็นชัดอยู่แล้ว แต่ละพรรคการเมืองก็ส่งเสริมอยู่แล้วว่าพรรคก้าวไกลที่ได้เสียงมากที่สุด ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ตนคิดว่าเรื่องเหล่านี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราอยากเสริมก็คือเราต้องการฟังจากผู้ที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลว่าจะทำงานร่วมกับทางเอกชนอย่างไรบ้าง ซึ่งนายพิธาให้ความสนใจด้านเศรษฐกิจมาก และหอการค้ามีความถนัดเรื่องนี้ ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพตนคิดว่าก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเกิดความสบายใจทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

ส่วนเรื่องขึ้นค่าแรง 450 บาท ถ้าเราไปสื่อสารกับสาธารณะไม่เข้าใจตนคิดว่ามันก็จะทำให้ทุกคน มีการโต้แย้ง ตนคิดว่าสิ่งสำคัญต้องมีการลงในรายะเอียดเชิงลึกเพราะว่าเรื่องนี้มันอ่อนไหวมาก เราพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งมีกลไกไตรภาคีอยู่แล้ว คิดว่าทางพรรคก้าวไกลครั้งนี้ได้ฟังเสียงจากประชาชน เชื่อสิ่งเหล่านี้คงไม่หลุด และต้องคุยกันต่อไป อย่างไรก็ตามในเรื่องเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมานั้น ตนคิดว่าค่าไฟเป็นตัวร้ายที่สุด

เมื่อถามว่าจากการที่ได้พูดคุยกับนายพิธา และพรรคก้าวไกลดูมีศักยภาพพอในการช่วงเรื่องเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้นตามที่ได้หาเสียงไว้หรือไม่ นายสนั่น กล่าวว่า คิดว่าแนวทางเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและมาตรการแก้ปัญหาตนคิดว่าก็ตรงกับทางหอการค้าที่เราได้มีการตั้งนโยบายอยู่แล้ว วันนี้หอการค้า 90 ปีแล้ว เราต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลทุกรัฐบาลและประชาชน ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะยาวและระยะสั้น รวมทั้งการแก้กฎหมายในเรื่องการแข่งขันทางการค้า การดึงนักลงทุนต่างๆ ชาติ รวมทั้งเรื่องความยั่งยืนในการพัฒนาด้วย ทุกอย่างตรงกันและมาถูกทางแล้ว

เมื่อถามว่าถ้านายพิธา ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้จะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ นายสนั่น กล่าวว่า ไม่ว่าจะนายพิธา หรือพรรคไหนที่ไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วก็เกิดความเสียหายแน่นอน ความเชื่อมั่นของคนต่างชาติเขากำลังจ้องเราอยู่ ดังนั้นสิ่งนี้เราทุกคนต้องจับตาให้มีการตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งชาติ

เมื่อถามถึงว่าการตั้งรัฐบาลช่วงเดือน ก.ย.จะช้าเกินไปหรือไม่ เพราะก่อนนี้บอกว่าจะตั้งภายในเดือน ก.ค. นายพิธา เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการทำงานของ กกต. ว่าสามารถรับรอง ส.ส.ได้ 95% ได้เมื่อไร หลังจากนับหนึ่งได้มันจะมีกรอบกฎหมายว่าจะเริ่มเรียกประชุมสภาได้เมื่อไร เลือกประธานสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีได้เมื่อไร จากนั้นก็จะสามารถฟอร์ม ครม. ได้ แต่ว่าตรงนี้เมื่อมันไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากสื่อมวลชนต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาได้ ก็เป็นช่วงต้นหรือกลาง ส.ค.บ้าง เรื่องนี้จึงต้องถามไปทาง กกต. ถ้าเปิดออกมา 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็ต้องรอเวลาว่าเขาจะรับรอง ส.ส.เป็นอย่างไร และกระบวนการในการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดสุญญากาศ และให้มีความเที่ยงตรงในการทำงานน่าจะเป็นในลักษณะแบบไหน แต่ทางหอการค้าก็ได้แสดงเจตจำนงมาว่าอยากให้สุญญากาศน้อยและสั้นที่สุด เพื่อเริ่มทำงานในรัฐบาลชุดใหม่ได้ เป็นสิ่งที่หารือในห้องประชุม

เมื่อถามถึงงบประมาณฐานศูนย์ไม่จำเป็นต้องทำในปีงบประมาณ 68 ใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่าทำทิศทางเป็นอย่างนั้น ปี 67 ก็ยังได้ เช่น บางอันที่เป็นงบลงทุนตามกฎหมาย บางอันที่เป็นหนี้หรืองบประมาณผูกผันมาตั้งแต่ปีก่อนๆ อันนี้มันยังแตกต้องไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน 2 แสนกว่าล้านบาทที่บอกว่าเป็นงบฟรีที่สามารถบริหารจัดการได้เราสามารถทำงบประมาณฐานศูนย์ได้ เพื่อให้เห็นภาพและปี 68 ทำอย่างนั้นทั้งระบบก็เป็นไปได้ ไม่ต่างกับที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. ทำกับงบประมาณ 9 หมื่นล้าน ก็คงเป็นไปในทิศทางใกล้ๆ กัน

เมื่อถามถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงอุบัติเหตุทางการเมืองหากนายพิธาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอาจส่งผลต่อ ส.ส. พรรคก้าวไกล 151 คน ที่นายพิธารับรองมานั้น นายพิธา กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดว่าตรรกะที่ไปที่มาที่ไปของนายวิษณุคืออะไร แต่คิดว่าทางฝั่งของเราได้เตรียมซีนาริโอ้ไว้หลายๆ รูปแบบและพร้อมชี้แจงในทุกรูปแบบที่จะออกมาและเกิดขึ้น แต่ว่าอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้เลย ยังมีเวลาในการชี้แจง คำร้องก็ยังไม่เห็น ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่เห็นจากข่าวบอกว่าขึ้นอยู่กับคำร้อง เป็นอันหนึ่งที่นายวิษณุพูดถูก ก็ต้องดูคำร้องก่อน

เมื่อถามว่ามีการมองว่าการตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านฯ เร็วเกินไปหรือไม่ ควรจัดตั้งหลังเป็นรัฐบาลแล้ว และการตั้งคณะทำงานนี้เป็นการกดดัน ส.ว.หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ความจริงคือประชาชนรอความเดือดร้อนตรงนี้ไม่ได้ อย่างที่ยกตัวอย่างว่า 20 ก.ค.นี้ จะไม่มีมาตรการในการพยุงราคาน้ำมันดีเซล จะจัดการอย่างไรก็เป็นรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรอไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเรารอไม่ได้ ส่วนคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ ในการเมืองต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติมากในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อถามว่าการตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านฯ เป็นการตั้ง ครม.เงาหรือไม่ เพราะหลายคนเป็นตัวเต็งมีชื่อในโผ ครม. นายพิธา กล่าวว่า ถ้าคำถามนี้เป็นความจริง เมื่อวานในการตั้งคณะกรรมการต้องตั้งตามกระทรวง แต่เมื่อวานที่เราพูดกันคือเราตั้งตาม MOU เป็นตัวตั้ง ปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งคณะทำงานตามกระทรวง ไม่ได้ตั้งชื่อว่าคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการ พม. หรือคณะกรรมการพลังงาน เพราะเรารู้ว่าการแก้ปัญหานี้มันต้องข้ามกระทรวงเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานเพื่อทำให้ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือนัยทางการเมืองที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าใครที่ไปอยู่ในคณะกรรมการนี้คือรัฐมนตรีเงาทันที เรื่องนี้ตนคิดมาก่อนแล้ว

ทั้งนี้ นายพิธาให้สัมภาษณ์ด้วยว่าวันที่ 1 มิ.ย.66 จะพบองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ดูว่าจะพูดคุยกันในประเด็นใด แต่คงเป็นเรื่องการบริหารงานส่วนท้องถิ่น 

เมื่อถามถึงกรณีคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวล เมื่อถามต่อว่า เรื่องนี้อาจจะผูกพันไปที่เรื่องว่าที่ ส.ส.ภายในพรรคด้วยหรือไม่ นายพิธากล่าวอีกว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะอนุมานได้หรือไม่ คงต้องดูที่คำร้อง 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีน.ส.ศิริกัญญา ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งรมว.คลัง หรือไม่ เนื่องจากหลายเวทีคำตอบด้านเศรษฐกิจไม่เป็นที่พอใจสำหรับนักลงทุน นายพิธากล่าวว่า ตนมั่นใจในตัวน.ส.ศิริกัญญาเกินร้อย บางคนอาจจะมีโอกาสได้คุยกับ น.ส.ศิริกัญญาไม่นานมาก แต่ตนทำงานด้วยกันมา 4 ปี เขาคือรมว.คลังที่ดีที่สุดในช่วงนี้