เมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ สร้างการรับรู้และความเข้าใจอันดีให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน ได้ทราบถึงภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบและการดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมกำลังการใช้กำลัง เพื่อสร้างความพร้อมให้กับกองทัพให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับปรุงโครงสร้าง ให้มีขนาดกะทัดรัด คล่องตัว ทันสมัย เช่น การยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ของกองทัพบก การปรับลดกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,656 อัตรา ประหยัดได้ 600 ล้านบาท

ส่วนการปรับลดนายทหารชั้นยศสูง เพื่อลดงบประมาณด้านกำลังพล โดยในห้วงปี 2570 ให้เหลือ 50% ตามแผนที่กาหนด รวมถึงการปิดการบรรจุกำลังพลและลดกำลังพลในปี 60-64 ไปแล้วกว่า 8,000 นาย สามารถประหยัดงบประมาณได้ 1,500 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 70 จะสามารถปรับลดกำลังลงได้ประมาณ 12,000 นาย ประหยัดงบกำลังพลลงได้ 2,900 ล้านบาทเศษ

สำหรับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ นั้น จำนวนที่ตรวจเลือกในแต่ละปีจะสอดคล้องกับโครงสร้างการจัดและภารกิจของกองทัพ โดยปัจจุบันมีความต้องการพลทหารปีละ ประมาณ 90,000 นาย และกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหารประมาณ 35,000 นาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการสมัครใจเข้าเป็นทหารได้ ในอนาคต

พ.อ.จิตนาถกล่าวต่อไปว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพกองทัพและเสริมสร้างหน่วยให้มีความสมบูรณ์ พร้อมรบ ในห้วงระยะ 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานง่า มีรายงานว่าในที่ประชุมได้เน้นย้ำแผนการปฏิรูปกองทัพว่ามีการทำอย่างต่อเนื่องตามกรอบงบประมาณที่มีอยู่โดยคำนึงถึงความจำเป็น ในการดำรงขีดความสามารถระดับต่ำที่ต้องมีโดยพล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำว่า นี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป.