เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลและรักษาการ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ว่าการกักกันไม่ใช่โทษตามกฎหมายไทย เพราะโทษตามกฎหมายไทยมีอยู่ 5 อย่าง คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งกักกันไม่ได้อยู่ใน 5 อย่างดังกล่าว แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น ปัญหาคือการกักกันจะกักกันที่ไหน อย่างไร กรมราชทัณฑ์จึงต้องออกระเบียบว่า ถ้าคนที่จะต้องถูกกักกันจะต้องถูกกักกันที่ไหน อาทิ บ้าน หรือที่ไหนอย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับเรื่องโทษ หากศาลสั่งจำคุก จะไปเปลี่ยนเป็นกักกันไม่ได้ สมมุติว่าเด็กและเยาวชนทำผิด ศาลบอกให้กักกัน ก็ส่งไปอยู่กับบ้านกับผู้ปกครองได้

“แต่คนบางส่วนเข้าใจว่า การกักกันสามารถรวมกับโทษได้ แล้วไปคิดถึงกรณีนักโทษกลับมาเข้ามามอบตัว และไปกักกันที่บ้าน อย่างนั้นไม่ใช่ จะใช้ในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะคุณต้องโดนโทษไม่ได้โดนกักกัน” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ระเบียบดังกล่าวออกมาในช่วงเวลานี้ ทำให้หลายคนวิเคราะห์กันไป นายวิษณุ กล่าวว่า มีอะไรหลายอย่างที่ควรจะออกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ติดขัดอยู่ จึงเพิ่งจะออกมาได้ เช่น กรณีที่มีการไปลงข่าวกันเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่ามีอำนาจใหญ่โต สามารถปลดนายกรัฐมนตรีได้ โดยมีตน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมเป็นกรรมการ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ทั้งที่คณะกรรมการชุดนี้ตั้งมานานแล้ว แต่เพิ่งออกมา ไม่ได้มีอำนาจไปปลดใครอย่างที่เป็นข่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์กัน ข้อสำคัญนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อถามว่าขณะนี้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ถูกนำไปโยงเรื่องการกลับมาประเทศไทยของนายทักษิณ นายวิษณุ กล่าวว่า “คงไม่โยง เพราะผมให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้นานแล้วว่า นโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ที่บอกว่าหากมีโทษและให้ไปรับโทษ โดยไปกักตัวไว้ที่บ้านได้นั้นมันยังไม่ออกมา ขณะนี้ที่ออกมาแล้วคือกฎกระทรวงปี 52 สมัยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ซึ่งออกมาว่า สำหรับคนที่จะต้องถูกขัง 3 ประเภท ให้เปลี่ยนเป็นไปขังที่บ้านได้คือ 1.คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน เช่น แบม ตะวัน 2.คนที่ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุก และรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 และ 3.หญิงมีครรภ์ที่ถูกศาลสั่งประหารชีวิต แต่ยังไม่คลอด บุคคลเหล่านี้จะต้องนำไปขังไว้ก่อน เช่น ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล มีแค่ 3 ข้อนี้เท่านั้น ไม่มีข้อที่ 4 ซึ่งระเบียบดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน และควรออกมาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้ว แต่เพิ่งตรวจกันเสร็จ เพิ่งออกมาตอนนี้”

เมื่อถามว่ากรณีนักโทษทางการเมือง มีความเป็นไปได้ที่จะขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะเป็นนักโทษทางการเมืองหรือไม่ใช่ก็ตาม ต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด คือ 1.ขอเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อขอไปแล้ว ถ้าหากถูกยก ถ้าจะขออีก ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี อันนี้หมายถึงการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว แต่ถ้าเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบจักรวาล คือการออกมาพระราชกฤษฎีกามาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ใครอยู่ในเกณฑ์เหล่านั้นให้ว่ากันไป แต่ในขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกานั้น แต่อาจจะมีในปีหน้า ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อถามว่าแม้จะไม่ได้มารับโทษ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถึงอย่างไรก็ต้องรับโทษก่อน จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ ส่วนการขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่นั้น ก็แล้วแต่กระบวนการ

ต่อข้อถามว่าการจะขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องรับโทษไปแล้วกี่ปี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี เพราะการขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นพระราชอำนาจ ไม่มีกำหนดในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าการอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกมาสำหรับคราวหนึ่งเพื่อคน 30,000 คน ก็มีเกณฑ์ของเขาอยู่ว่าจะต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี โดยขณะนี้กฎหมายนี้ยังไม่มี แต่มีไปคราวล่าสุดที่ปล่อยออกมาจากคุกไปแล้ว 30,000 คน