เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวเรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง ตรวจสอบกรณีที่คณะนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใตั ที่ประกาศเรื่องการทำประชามติ เพื่อแบ่งแยกดินแดน หรือ รัฐปาตานี เมื่อ 7 มิ.ย. 66 ที่ มอ.ปัตตานี เนื่องจากกรณีดังกล่าวตนเชื่อว่ามีนักการเมืองและพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง และตนขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนักการเมืองรวมถึงว่าที่ ส.ส. ของบางพรรคการเมือง ที่เข้าร่วมเวทีดังกล่าว และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลุกปั่นให้นักศึกษาดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ตนมีคลิปที่นักการเมืองบางพรรคที่จัดเวทีปลุกระดม มีลักษณะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตราว่าด้วยราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งคนที่ทำนั้นเข้าข่ายทำผิดเป็นกบฏ เข้าข่ายยุบพรรค ตนไม่ขอเอ่ยว่าเป็นพรรคการเมืองใด ขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบ

“การประกาศของนักศึกษาตามคำประกาศ เขาไม่รู้ว่านั่นคือการทำผิดที่ความผิดสำเร็จแล้ว แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เพราะมีผู้ใหญ่ปั่นหัว และอยู่เบื้องหลัง ส่วนการระบุว่ามีข้อเสนอให้ทำประชามติแบ่งแยกดินแดน เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผมขอข้าราชการ หน่วยงานที่มีหน้าที่อย่ากลัวนักการเมือง เพราะหากละเว้นจะเข้าข่าย มาตรา 157 แม้จะเคารพสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่ควรมีเรื่องแยกบ้านแยกเมือง เพราะจะทำให้ประเทศไปต่อไม่ได้ และคนในประเทศจะอยู่กันไม่ได้”

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า กอ.รมน. ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบให้จริงจัง อย่าปล่อยให้บานปลาย กอ.รมน. มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็น ผอ.กอ.รมน. รวมถึงแม่ทัพภาค 4 ดังนั้นต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะการทำประชามติให้แบ่งแยกดินแดน ตนมองว่าพรรคการเมืองที่ยุยงให้เกิดเรื่องการทำประชามมติแบ่งแยกดินแดนไม่สมควรเป็นพรรคการเมือง ไม่สมควร ได้เป็น ส.ส. ทั้งนี้อย่าอ้างความรักชาติ แต่เรื่องนี้คือการเคารพพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลาย แต่หากยังทำเรื่องนี้คนไทยจะสู้ถึงที่สุด และเป็นสงครามภายในประเทศ

“เรื่องภาคใต้นั้น ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำ หรือเรื่องชนชาติ คนที่ทำต้องขอโทษประชาชนคนไทย ผมไม่อยากให้นักศึกษาที่ทำเวที ติดคุก เพราะถูกผู้ใหญ่ปั่นหัว และข้อเท็จจริงเรื่องนี้คือการแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้ กมธ.จะติดตาม และนำเอกสารหลักฐานที่ได้มาตรวจสอบ รวมถึงให้ กมธ.ความมั่นคง วุฒิสภาติดตามการทำหน้าที่ของ กอ.รมน. ส่วน กกต.นั้น ต้องติดตามพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนการเงิน และเอาผิด หากนักการเมืองที่สนับสนุนเป็นกรรมการบริหารพรรคต้องยุบพรรค”

เมื่อถามว่า ในเวทีดังกล่าวพบว่า มีนายวรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ เข้าร่วมด้วย นายสมชาย กล่าวว่า นายวรวิทย์กับตนเคยทำงานร่วมกัน และฟังการชี้แจงจากนายวรวิทย์ระบุว่าไม่ทราบเรื่อง และไปร่วมงานตอนบ่าย ดังนั้นต้องตรวจสอบว่าใครจัดงานหรือใครสนับสนุน พรรคไหนให้งบในการจัดเวที

ทางด้าน นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า กรณีมีการจัดงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” และการจัดพิมพ์บัตรเพื่อร่วมลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมายนั้น 

ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้ยื่นเสนอญัตติ “ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเขตการปกครองรูปแบบพิเศษพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” จึงมองว่าเรื่องดังกล่าวควรที่จะมีการศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยสิ่งสำคัญคือการออกกฎหมายเพื่อให้มีการบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศสำหรับการเสนอให้มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เป็นการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ด้วยสันติวิธีที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจมีลักษณะการบริหารจัดการในรูปแบบของ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่จัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารพื้นที่โดยประชาชนในพื้นที่เอง

“การบริหารจัดการรูปแบบพิเศษในพื้นที่ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้กำหนดและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเอง แต่จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ตนจึงเห็นสมควรที่จะเสนอให้มีการจัดตั้ง กมธ. เพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่กัน เช่น เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทัศนคติ และความเชื่อของท้องถิ่น” 

นายสัณหพจน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนในประเด็นเรื่องของกฎหมายรองรับ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียงกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง กทม. และเมืองพัทยา ที่เราไม่ได้เรียกว่า “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งการกำหนดการบริหารจัดการพิเศษใน 3 จังหวัดภาคใต้ ภายใต้รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำเป็นที่จะต้องพิจารณารูปแบบกฎหมายที่จะรองรับ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือเสนอกฎหมายใหม่ขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของการสร้างค่านิยมที่ผิดในพื้นที่เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจะต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยน ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนในพื้นที่ กลุ่มต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหว กมธ. และผู้ร่างกฎหมาย รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางหรือหน่วยงานบางหน่วยงาน อย่างไรก็ตามการกระจายอำนาจจะเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเรื่องดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้รัฐสภาเป็นกลไกในการพิจารณากำหนดและออกกฎหมาย