เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายจาตุรงค์ สุขเอียด อดีต บก.ไอทีวี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ตอนนี้แม้แต่อดีตนักข่าวไอทีวีเอง ก็ยังเห็นต่างกันถึงสถานะปัจจุบันของไอทีวี

ยังคงเป็นสื่ออยู่หรือไม่?

ขอแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะเป็นตัวแทนพนักงานที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองครับ

วันที่ถูก สปน. โดยมติ ครม. ให้ยึดคลื่นถี่และใบอนุญาตเผยแพร่ภาพและเสียง ที่หมายถึงห้ามสื่อสารใดๆ ออกไปภายนอกในนามไอทีวี ผู้รับสัมปทาน หากฝ่าฝืนก็ผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนนั้นผมไปให้การไต่สวนต่อหน้าคณะตุลาการศาลปกครอง ท่านถาม หลายคำถาม หนึ่งในนั้นคือ ถ้าไม่มีความถี่กับใบอนุญาตก็ออกอากาศไม่ได้ พนักงานที่เกี่ยวข้องนับพันคนจะตกงาน

ตอนนั้นมีฝ่ายรัฐมาให้การคัดค้าน บอกว่า ถึงตกงานก็มีเงินเยียวยา ยังมีอีกหลายสื่อให้ไปทำงาน ที่สุด ศาลปกครอง เห็นว่า เป็นการเร็วเกินไปกับการบอกเลิกของ สปน. และเพื่อให้เตรียมเปลี่ยนผ่านจึง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว 1 ปี แต่ห้ามดำเนินการในนาม Itv

Itv จึงเปลี่ยนมาเป็น Titv ในช่วงนั้น โดยสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถือใบอนุญาตแทนชั่วคราว 1 ปีนั้น จึงออกอากาศ Titv โดยมีกรมประชาสัมพันธ์ควบคุมการดำเนินการในฐานะสื่อมวลชนต่อได้ จนพ้น 1 ปี ศาลปกครองจึงเพิกถอนความคุ้มครองดังกล่าว 

เป็นที่มาจอดำ อีก 3 วินาทีต่อมาจึงเกิดช่องใหม่ ในคลื่นความถี่เดิมของไอทีวีคือ tpbs ผมจำได้ว่าสถานะบริษัทไอทีวี ตอนถูกยึดคืนใบอนุญาตเผยแพร่ภาพแล้ว จ่ายเลิกจ้างพนักงานทุกระดับแล้ว  มีเงินเหลือประมาณพันล้านบาทเศษๆ แต่ไม่เพียงพอจะปันคืนผู้ถือหุ้นรายย่อย

ที่บางคนคิดว่าไอทีวีมั่นคงตลอดสัญญา จึงนำเงินเกษียณมาลงทุนไว้หลายล้านบาท วันถูกแขวนในตลาดหลักทรัพย์เหลือไม่กี่สลึง เขาว่า ให้ตายไปพร้อมกับหุ้นตัวนี้ไปเลย

คำถามคือว่า ถ้าไอทีวี ถูกยึดความถี่คืนไปแล้ว พร้อมใบอนุญาตใช้ความถี่คลื่น UHF ผมก็สงสัย ว่า ทำไม มีบุคลากร มีเงิน พร้อมทำไม ไม่ไปเช่าสัญญาณดาวเทียมทำไปก่อน ตอนนั้นก็มีหลายสื่อทำออนไลน์แล้ว ทำไม ไอทีวี ไม่ผลิตสื่อออนไลน์ บ้าง

แล้วแม้เวลาผ่านมา มีการตั้ง กสทช. แล้ว เปิดให้ผู้ ที่สนใจ ไปยื่นประมูลความถี่มา ทำไม ทางบริษัทไอทีวีตอนนั้น ไม่ไปยื่นบ้าง ถ้าไม่มีอะไรต้องห้าม …ในปีที่ไอทีวี เกิดใหม่ๆ ตอนนั้น ไม่มีคนรู้จักว่าเป็นสื่อทีวี

ผู้บริหารจึงให้นักข่าว นำเสาอากาศไปแจกแหล่งข่าวด้วยเราต้องปีนหลังคาบ้านเพื่อตั้งเสาให้เขาดูก่อนจึงจะยอมให้สัมภาษณ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ต้องไปซื้อโฆษณาจากหนังสือพิมพ์ดังๆ มาเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวและรายการให้คนรู้จัก เพื่อจะได้มีเรตติ้งไปขายโฆษณาได้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องออกบูธจัดงานตามหัวเมืองหลายจังหวัด

เขาจะผลิตแผ่นป้าย ใบปิด เพื่อการประชาสัมพันธ์ไม่ได้ ถ้าไม่มีใบอนุญาตให้ผลิตเผยแพร่หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ตอนนั้นสื่ออื่นๆ ทั้งเว็บไซต์ ข่าวออนไลน์ ต่างๆ ล้วนเป็นสื่อแขนงย่อยของไอทีวี  มีผลเพราะมีใบอนุญาตสื่อโทรทัศน์เป็นหลักหรือไม่

ถ้าไม่มีสื่อหลัก สื่อที่ถูกจดแจ้งเพื่อส่งเสริมการค้า จึงยังคงสถานะสื่อโดยอิสระหรือไม่

ถ้ามีได้ทำไม 17 ปีที่ผ่านมา ไอทีวี ไม่เริ่มผลิตสื่อออนไลน์ ไม่ทำเพจสำนักข่าว หรือทำช่องยูทูบไปก่อนหน้านี้

ผมก็ไม่รู้ว่า สัญญาสื่อของไอทีวีจะพิเศษกว่าสื่ออื่นอย่างไร นอกจากการเกิดที่เป็นเงื่อนไขพิเศษมาตั้งแต่เกิด ผมจึงไม่เห็นเหตุผล ที่เพื่อนพี่น้องของไอทีวี จะเอาปัญหาของนักการเมืองมาเถียงกัน เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับบ้านเก่าของเรา

ลองไปขอคัดสำเนาคำสั่ง สปน./คำวินิจฉัยศาลปกครองกลางวันไต่สวน และวันเพิกถอนใบอนุญาตดูก่อนครับ ว่า มีเงื่อนไข ห้ามไอทีวี ทำแค่สื่อทีวีอย่างเดียวหรือทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง.