สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ว่า ที่ระดับน้ำทะเล ความดันบรรยากาศอยู่ที่ 14.7 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แต่ที่ระดับความลึกราว 3,800 เมตร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ซากเรือไททานิกนอนจมอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนั้น มีแรงดันน้ำมากกว่าระดับปกติถึง 400 เท่า หรือเกือบ 6,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

สำหรับการระเบิดภายในที่เกิดจากข้อบกพร่องในตัวเรือ หรือด้วยเหตุผลอื่น เรือดำน้ำจะยุบตัวในเสี้ยววินาที เนื่องจากถูกแรงดันน้ำมหาศาลภายนอกห้องผู้โดยสาร กดอัดเข้ากับตัวเรือและเกิดการระเบิด ซึ่งผู้ที่อยู่ในห้องปรับความดันอาจเสียชีวิตได้ในทันที

ทั้งนี้ เรือดำน้ำไททัน ซึ่งสร้างโดยบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ ได้รับการออกแบบให้ทนรับแรงดันน้ำ ที่ระดับความลึกของซากเรือไททานิก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านความปลอดภัยของเรือลำนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับนายเดวิด ลอคริดจ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ ซึ่งถูกไล่ออกเมื่อปี 2561 หลังเขากล่าวเตือนเกี่ยวกับตัวเรือที่สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ว่า “เป็นการทดลอง และไม่ได้รับการทดสอบ”

ขณะที่ นายรอเดอริก สมิธ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า อุบัติเหตุดังกล่าวน่าจะเกิดจาก “ปัญหาของตัวเรือดำน้ำที่รักษาความดัน” กระนั้น เศษชิ้นส่วนของเรือจะต้องถูกเก็บกู้เพื่อดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบต่อไป แม้ว่าความรุนแรงของการระเบิดจะทำให้การระบุลำดับเหตุการณ์และสาเหตุที่แท้จริง เป็นเรื่องที่ยากมากก็ตาม.

เครดิตภาพ : AFP