จนช่วงระหว่างวันของวันที่ 23 มิ.ย. 66 ได้หลุด 1,500 จุด ไปแล้ว ซึ่งถือเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 64 ก่อนที่ปรับขึ้นมาอีกครั้ง แต่เรื่องที่สำคัญและบั่นทอนจิตใจของนักลงทุนยิ่งกว่านั้น!! นั่นก็คือ … ปัญหาซ้ำซากของการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดสามารถแก้ปมปัญหา    และป้องกันเรื่องนี้ได้สำเร็จ จนประชาชนยังคงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในตลาดหุ้นไม่จบไม่สิ้น

หายนะครั้งใหญ่นักลงทุน

อย่างกรณีการทุจริตของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้นสตาร์ค ถือเป็นอีกกรณีที่ทำให้เห็นการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่ามีความแอ็กทิฟหรือเอื่อยเฉื่อยมากแค่ไหน โดยเริ่มตั้งแต่ที่สตาร์คไม่ส่งงบการเงินปี 2665 ทำให้มีการผิดนัดชำระหุ้นกู้ จนท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา สตาร์คส่งงบการเงินมาแต่ผลปรากฏว่า ขาดทุนมากกว่า 6,612 ล้านบาท พร้อมแก้ไขงบปี 2564 พลิกขาดทุน 5,965 ล้านบาท โดยมีการโยกเงินออกจากบริษัทไปยังบริษัทลูก จนเกิดหายนะใหญ่หลวงแก่นักลงทุนในวงกว้าง

ปัญหาต่อเนื่องจากหุ้นมอร์

อย่างที่บอกว่าเป็นปมที่ต่อเนื่องจากปลายปี 65 ซึ่งเคยเกิดปัญหาใหญ่ของหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้นมอร์ ที่พยายามปล้นเงินโบรกเกอร์ มาก่อนและขณะนี้เรื่องดำเนินการไปถึงขบวนการไหนแล้วก็ยังไม่ทราบ และล่าสุดยังเริ่มมีกลิ่นตุ ๆ ของหุ้น บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้นโอทูโอ ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างผิดปกติ ก่อนจะมีแรงเทขายออกมาจากกลุ่มเดียวกันจนหุ้นแทบล่มสลายขึ้นมาอีก

ช่องโหว่ผู้กำกับดูแล

การปล่อยให้เกิดปัญหาร้ายแรงติดต่อกันซ้ำ ๆ เหล่านี้ จึงถือเป็นวิกฤติทำลายความเชื่อมั่นครั้งใหญ่ของตลาดทุนไทยและยังสะท้อนให้เห็น “ช่องโหว่” การทำงานของผู้กำกับดูแลในช่วงที่ผ่านมาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ขณะนี้เป็นช่วงสุญญากาศในระหว่างการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่คุมกฎตลาดทุน และยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ด้วย จึงทำให้เกิดเป็นช่องว่างครั้งสำคัญที่ไม่มีใครดูแลตลาดทุน

พิสูจน์ฝีมือคนมาใหม่

ส่วนหลังจากนี้ใครที่เข้ามารับบทบาทเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ก็น่าจะกดดันอยู่ไม่น้อยกับภาระอันยิ่งใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบทรัพย์สินมหาศาลในตลาดทุน ท่ามกลางการจับจ้องของหลายฝ่ายโดยเฉพาะสายตานักลงทุนว่าจะเข้ามาแอ็กทิฟปฏิรูประเบียบและกฎเกณฑ์การกำกับดูแลตลาดหุ้นต่อจากนี้ในรูปแบบไหน ขจัดปมปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้หรือไม่ และหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีกการทำงานจะรวดเร็วทันใจยิ่งกว่านี้แค่ไหนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

โดยเฉพาะเกณฑ์การรับบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์อาจต้องเสนอขอเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน เพิ่มอำนาจการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และมีบทลงโทษรุนแรงทางกฎหมาย รวมทั้งอำนาจในการเข้าควบคุมบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาหากมีเบาะแสเรื่องของการทุจริตเกิดขึ้น เพื่อรักษาทรัพย์สินของผู้ถือหุ้น และสามารถเร่งดำเนินคดี รวมทั้งห้ามบุคคลที่ถูกกล่าวโทษเดินทางออกนอกประเทศ

กำชับต้องไม่เกิดเรื่องอีก

ด้านขุนคลังไม่นิ่งนอนใจและได้กำชับไปยัง ก.ล.ต. ให้ออกมาตรการดูแลนักลงทุนอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พร้อมกับกำชับ ก.ล.ต. ด้วยว่า “ต้องไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นเดียวเกิดขึ้นซ้ำอีก” โดยเฉพาะต้องดูแล คุ้มครองผู้ลงทุนเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งทุกครั้งที่ไปร่วมประชุมในเวทีระดับโลกเกี่ยวกับตลาดทุน ที่ประชุมจะให้ความสำคัญมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้น จะเน้นเรื่องการคุ้มครองนักลงทุน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้เล่นในตลาดทุน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย

จี้รัฐแก้ปัญหาแบบด่วนจี๋

เพราะเรื่องการทุจริตในตลาดหุ้นไทยที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานผู้กำกับดูแลจะต้องเร่งแก้ปัญหาแบบด่วนจี๋ที่สุด เพราะหากยังทำไม่รู้ร้อนรู้หนาวอย่างที่ผ่านมา ก็อาจไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาลงทุนและมนตร์เสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยยิ่งหมดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งเห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายหุ้นรายวันที่ลดต่ำลงมาอยู่ระดับ 30,000-40,000 ล้านบาท ผิดไปจากปีก่อน ๆ ที่มีมูลค่าการซื้ออยู่ที่วันละประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท

ขณะที่บรรดานักลงทุนต่างชาติเอง ก็เทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันที่ 22 มิ.ย. 66 ขาย   ออกสุทธิ 107,759.37 ล้านบาท และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายออกสุทธิ 4,104.98 ล้านบาท โดยขายออกทั้งหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี บริการ พลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และธุรกิจการเงิน

การเมืองปัจจัยที่ทำหุ้นร่วง

ในกรณีที่เกิดการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น บรรดานักวิเคราะห์บอกว่าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่กระทบต่อดัชนีหุ้นไทยเท่านั้น แต่สาเหตุที่แท้จริงยังคงมาจาก “การเมืองไทย” ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ที่ยังช้าทำให้เกิดสุญญากาศ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านไปแล้ว 1 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นร้อนเรื่องการตรวจสอบ การฟ้องร้อง เรื่องคุณสมบัติ การถือหุ้นสื่อ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด จึงอาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า  ออกไป รวมไปถึงการย้ายขั้วพรรคร่วม

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสภาพตลาดหุ้นไทยจึงได้ร่วงลงมาเช่นนี้ นั่นเพราะนักลงทุนไม่แน่ใจและยังไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงรอความชัดเจน เพราะหาจังหวะลงทุนหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหาเสียงของฝั่งรัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้จากหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 .. 66 เป็นต้นมาถึง ณ วันที่ 22 มิ.. 66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 37,915.76 ล้านบาท

ยืดเยื้อร่วงถึง 1,400 จุด

เช่นเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการวิเคราะห์ว่า หากตั้งรัฐบาลล่าช้าแต่อยู่ในระดับที่จัดการได้ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 66 จะอยู่ที่ประมาณ 1,660 จุด เพิ่มขึ้น 7% ส่วนในกรณีเลวร้ายหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจนกระทบต่อการจัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และมีความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายยืดเยื้อดัชนีหุ้นอาจมีความเสี่ยงปรับลดลงประมาณ 8% จากระดับปัจจุบันหรืออยู่ที่ประมาณ 1,400 จุด

เฟดขึ้น ดบ.ดันเงินไหลออก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เช่นเดียวกับธนาคารกลางในอีกหลายประเทศที่ยังเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อจนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าปรับลดลงอย่างหนัก ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยเอง ก็อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 2% จึงทำให้ช่วงนี้นักลงทุนมองเห็นความเสี่ยงจากหลายปัจจัยจึงลดความเสี่ยงด้วยการย้ายเงินออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย

ประเด็นนี้… เป็นเพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ ยังส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างวันได้อ่อนค่าลงไปอยู่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่ง ทำให้มีเงินไหลออก หรือนักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. จนถึงวันที่ 21 มิ.ย. แล้วกว่า 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดหุ้น 8,794 ล้านบาท และพันธบัตร 18,779 ล้านบาท 

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้  น่าจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ!! ของการวัดใจกันว่า…การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้สำเร็จหรือไม่ และเกิดขึ้นได้โดยเร็วแค่ไหน เพราะหากจัดตั้งได้ และเกิดขึ้นได้เร็ว ก็จะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างบรรยากาศการลงทุน พร้อมกับจับตาหน่วยงานที่กำกับดูแลในตลาดหุ้นว่าจะมีการเทคแอ็กชันสางปม ปัญหาของการทุจริตซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อย่างไร และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน สร้างมนตร์เสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยให้กลับมาน่าหลงใหลได้มากน้อยแค่ไหน!!!

เทคแอ็กชันให้เร็วเรียกเชื่อมั่น

“ชวินดา หาญรัตนกูล” นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน บอกว่า จากเหตุการณ์ของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือหุ้นสตาร์คที่มีการส่งงบบัญชีช้า ตกแต่งยอดขายปลอม สร้างรายจ่ายปลอมที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะก่อนหน้านี้มีหุ้นหลายตัวที่เกิดขึ้นมาก่อนซึ่งเกิดจากหลักธรรมาภิบาลของบริษัท แต่อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งเทคแอ็กชันเร็วมากขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้เร็ว และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งระดมความคิดแล้วหาแนวทาง  ป้องกันในอนาคตว่าจะต้องทำอย่างไร หรืออาจมีหน่วยที่คอยตรวจสอบ หรือที่เรียกว่า เป็นคนเฝ้าบ้าน เฝ้าดูแลให้กับนักลงทุนรอบตัว ซึ่งหากมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งสงสัยก่อนให้รีบส่งข่าวให้กับอีกหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลกันให้เร็วที่สุด

“ด้านสมาคมฯ หลังจากนี้ก็ต้องมีระบบตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้นและอาจจะต้องเกินบทบาทหน้าที่ด้วยซ้ำ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดในวันนี้มันสั่นคลอนอย่างมาก ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ก.ล.ต.ต้องมาคุยกันแล้วว่าบริษัทที่ได้รับคัดเลือกมาซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำนั้นเกิดอะไรขึ้น ทำไมมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และสิ่งต่อไปอยากให้ ก.ล.ต.มองกฎเกณฑ์ว่าจะต้องพิจารณาที่จุดไหน   เพื่อให้ได้ไลเซนส์ และการที่จะถอนไลเซนส์ออกไปหรือการจะพิจารณาใหม่อาจจะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น และนักลงทุนทั้งหมดอาจจะต้องมาช่วยกันเฝ้าระวัง ที่สำคัญการตัดสินใจอะไรต่าง ๆ จะต้องรวดเร็ว”

ทั้งนี้ จึงแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่หรือรายย่อยที่เข้ามาในตลาดหุ้นยังไม่นานมากพอจะต้องศึกษาข้อมูลให้มากขึ้น โดยสอบถามตรวจสอบข้อมูลให้รอบตัวก่อนลงทุน พร้อมกับศึกษาด้วยตนเองก่อนเพราะในเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ว่าการรับเงินการจ่ายเงินปันผลต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจด้วย อย่าตัดสินใจจากเพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนนักลงทุนรายเล็กบางรายที่เข้าไปลงทุนและได้รับผลกระทบนั้น อาจเป็นเหตุการณ์ที่สอนให้เห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย ดังนั้นอย่าไปทุ่มน้ำหนักให้กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไปเพื่อคาดหวังว่าหุ้นตัวนั้นจะให้ผลตอบแทนได้ตามที่ต้องการ เพราะของทุกอย่างมักมีความเสี่ยง ดังนั้นต้องศึกษางบการเงินให้ถ่องแท้ เพราะอย่างเรื่องนี้ต้องมองด้วยว่างบการเงินที่ได้รับการรับรองนั้น เราอาจจะต้องตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ต้องเข้าไปดูและตรวจสอบในเชิงลึก ลึกถึงลึกมากที่สุด เพราะหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าเราจะต้องระมัดระวังว่า อาจมีการเติบโตของหุ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจไม่เป็นอย่างที่คิด.

ทีมเศรษฐกิจ