เมื่อวันที่ 3 ก.ค. เพจเฟซบุ๊ก Faculty of Engineering, Chulalongkorn University เผยแพร่ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับบันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน หัวข้อ “รู้แล้วรอด จุดเสี่ยงบันไดเลื่อน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงจุดเสี่ยงของการใช้งานบันไดเลื่อน หรือ ทางเลื่อน จากข่าวผู้โดยสารถูกทางเลื่อนในสนามบินดอนเมือง ดูดขาขาด คือบริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อน ที่หากพบว่าไม่มีการตรวจเช็คเกี่ยวกับความพร้อมในการใช้งานอยู่สม่ำเสมออาจสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

เนื่องจากกลไกของระบบทางเลื่อนแบบนี้เป็นกลไกเครื่องกลแบบหมุนวนไปมา แต่บริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อนจะเป็นจุดส่วนโค้งที่หากพบว่าชำรุดอาจจะสามารถดึงวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปในลักษณะคล้ายกับการดูดขาของผู้โดยสารรายนี้เข้าไปได้

15 วันรู้ผล! สาเหตุ “ทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร” สั่งปิดใช้งาน 20 ตัว 1 เดือน

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลจึงมีคำแนะนำว่า หากต้องการความปลอดภัยต้องพยายามก้าวผ่านบริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อนไปให้ได้ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้เกือบถึง 100% และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุจริง ๆ บริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อนก็จะมีปุ่มสีแดงเอาไว้ ปุ่มนี้เมื่อกดก็จะทำให้ทางเลื่อนหยุดทำงานอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้ทางเลื่อนหลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีปุ่มนี้ ระหว่างการใช้งานบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน และควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์

นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ยังเป็นคนคิดค้นเท้าเทียมไดนามิคให้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียเท้าหรือขาด้วย ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยรายนี้มีความจำเป็นต้องใช้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยินดีที่จะช่วยทำเท้าเทียมไดนามิคแบบเฉพาะตัวให้กับผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งเท้าเทียมไดนามิคก็จะมีความแตกต่างไปจากเท้าเทียมอื่นเนื่องจากสามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเท้าของจริง