เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจราชการในหลายจังหวัด ได้รับเสียงสะท้อนจากครูเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับภาระหน้าที่นอกเหนือจากงานสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องเข้าไปทำหน้าที่งานด้านพัสดุ และการเงิน ซึ่งครูส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นงานที่ไม่ถนัด และรู้สึกอึดอัดใจกับภาระงานดังกล่าวเป็นอย่างมาก แม้ทางโรงเรียน หรือทางเขตพื้นที่การศึกษาจะมีการจัดอบรมให้ความรู้แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ โดยได้เรียกร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ช่วยหาบุคลากรเพื่อเข้ามารับผิดชอบภาระงานดังกล่าวโดยตรง ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานและที่ผ่านมา สพฐ. ก็ได้พยายามแก้ปัญหาจัดหาบุคลากรเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับโรงเรียนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งตนจะสรุปเสียงสะท้อนเหล่านี้เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ปลัด ศธ. และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ทราบต่อไป
หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในการตรวจราชการรอบที่ 2 ของปีงบประมาณ 2566 ซึ่งตนได้ตรวจติดตามสถานศึกษาร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดนั้น ได้กำชับนโยบายเรื่องสถานศึกษาปลอดภัยเป็นเรื่องหลัก ที่ทุกสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญ เพราะทุกวันนี้ภัยที่จะเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ และทำให้เกิดความสูญเสีย เช่น กรณีอาคารโดมโรงเรียนพังถล่มจากวาตภัย ถังดับเพลิงระเบิด ความรุนแรงภายในโรงเรียนการใช้อาวุธ ยาเสพติดในสถานศึกษา เป็นต้น โดยหลายเหตุการณ์ถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน ดังนั้นทุกโรงเรียนจึงต้องมีแผนเผชิญเหตุอย่างจริงจังไม่ใช่เกิดเหตุแล้วทำอะไรไม่ถูก อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกว่าทุกวันนี้เด็กไทยมีความเครียดสูง ทำให้หลายเขตพื้นที่ต้องจัดหานักจิตวิทยาเข้ามาช่วยโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของเด็กและครอบคลุมในทุกมิติ