จากกรณีที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้มีหนังสือขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดี หลังตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ที่ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ตรวจยึดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าสุกรแช่แข็ง ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เพื่อทำการขยายผลการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงได้มีหนังสือส่งเรื่อง
มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการ และในเรื่องเดียวกัน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เคยให้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นและยื่นหนังสือ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับเป็นคดีพิเศษด้วยอีกส่วนหนึ่ง ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปก่อนนี้ ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาและมีคำสั่งให้รับกรณีนี้ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ นั้น

ต่อมา พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรแห่งชาติ พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี และ พ.ต.อ.ปพรพัชร์ ใบยา ผกก.สภ.แหลมฉบัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสุกรแช่แข็ง 161 ตู้ ผลการประเมินราคาสินค้าทั้งหมดมีมูลค่าราคารวมค่าภาษีอากร รวมเป็นเงิน 460,105,947.38 บาท

DSI สนธิกำลังบุกยึด ‘เนื้อสุกรแช่แข็งเถื่อน’ 161 ตู้ ส่งทำลาย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ได้ลงพื้นที่ เพื่อหาข้อมูลเส้นทางการเดินทางของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสุกรแช่แข็ง 161 ตู้ จากแหล่งข่าวในวงการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์แช่แข็ง ที่ขอสงวนนาม ว่า ในช่วงปี 2564-2565 เนื้อสุกรในประเทศไทยมีราคาสูงมาก เนื่องมีโรคระบาดเกิดขึ้น ทำให้เกิดการลักลอบนำเนื้อสุกรแช่แข็งจากหลายประเทศ จากทวีปอเมริกาใต้ อาทิ ประเทศบราซิล เเละอาเจนร์ติน่า เเละ ทวีปยุโรป อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศเดนมาร์ก เเละประเทศรัสเซีย เข้ามาในราชอาณาจักรไทย

โดยเส้นทางการเดินทางของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสุกรแช่แข็ง 161 ตู้ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายศุลกากร วิธีการนำเข้ามานั้นมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ ส่งออกมาจากประเทศต้นทางโดยตรง กับการส่งออกจากประเทศต้นทางแล้วเอาตู้สินค้าไปแวะประเทศที่ 2 จึงมาถึงประเทศไทย โดยปกติทั่วไปสินค้าประเภทนี้จะต้องได้ผู้นำเข้าจะใช้หลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่โดยการสำแดงสินค้าเป็นปลาหรืออาหารทะเลแช่แข็ง เพื่อที่จะหลบเลี่ยงใบอนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์

นอกจากนี้ผู้นำเข้ายังใช้วิธีในการทำเอกสารหรือใบขนขาเข้าด้วยระบบเคาเตอร์เซอร์วิส ที่ตั้งโต๊ะรับจ้างเขียนใบขนสินค้า จึงไม่ปรากฏตัวตนว่ามีผู้ใดเป็นเจ้าของสินค้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงต้องใช้ความละเอียดอย่างสูงในการตรวจสอบด้วยการเอกซ์เรย์ตู้สินค้าแช่แข็งทุกตู้ แล้วต้องตรวจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ถ้าเป็นเนื้อโค กระบือ หรือสุกร ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ถ้าปลาหรือสัตว์ทะเล ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมประมง หรือเป็นสินค้าเป็นพืชผักผลไม้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรที่มีปริมาณมากในแต่ละวัน หากไม่มีการตรวจเข้ม จับไม่ได้เป็นร้อยตู้

“โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอีก คือ กลุ่มสายการเดินเรือ ที่ปัจจุบันนี้ไม่อยากรับสินค้าประเภทนี้แล้ว เพราะตู้สินค้าถูกตรวจยึดจะต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ยกตัวอย่างค่าไฟเพื่อควบคุมอุณหภูมิ 1,500 บาทต่อวัน ค่าฝากวางตู้ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าในตู้ไปทำลายอีกประมาณ 20,000 บาทต่อตู้ ซึ่งขณะนี้ตู้สินค้า 161 ตู้ เจ้าหน้าที่ได้บูรณาการตรวจร่วมไปแล้ว 70% น่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 14 ก.ค. นี้ จึงส่งมอบสินค้าตกค้างไปทำลายของกลาง วันนี้ราคาสุกรไทยหน้าฟาร์มขายกิโลกรัมละ 70-80 บาท แต่หน้าเขียงขายกัน 180-200 บาท ส่วนต่างมันสูงมาก” แหล่งข่าว ตั้งข้อสังเกต.