นับเป็นอีกหนึ่งข่าวสะเทือนใจคนไทย พร้อมรอจับตากันอย่างใกล้ชิด หลังเกิดเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่กำลังก่อสร้าง เกิดพังถล่มบริเวณหน้าห้างโลตัส สาขาลาดกระบัง กรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้บาดเจ็บหลายราย เหตุเกิดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น

สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง มีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการ ส่วนผู้รับจ้างเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด มีค่าก่อสร้างทั้งหมดจำนวน 1,664,550,000 บาท (หนึ่งพันหกร้อยหกสิบสี่ล้านห้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ทาง กทม. เป็นผู้ออกเงิน 100%

หากเราย้อนกลับไปดูตามสัญญาจ้าง จะพบว่ามีกำหนดระยะเวลาตามหนังสือสัญญาเลขที่ สนย.11/2564 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง วันที่ 11 สิงหาคม 2566
ระยะเวลาการก่อสร้างรวม 900 วัน
คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2567

โดยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกลาดกระบังนี้มีระยะทางทั้งสิ้น 3,500 เมตร จุดเริ่มต้นบริเวณสะพานข้ามคลองหนองคล้า ใกล้กับซอยลาดกระบัง 9/7 ไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหน้าสำนักงาน กปน. สาขาสุวรรณภูมิ ลักษณะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร

การก่อสร้างดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้การจราจรบริเวณถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง มีความรวดเร็ว เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ แก้ไขปัญหาการจราจร และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งหากบริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ตามที่ตกลงไว้ในหนังสือสัญญา จะต้องจ่ายเงินค่าปรับแก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงิน 4.1 ล้านบาทต่อวันโดยประมาณ

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจจากสัญญาดังกล่าว หากย้อนไปดู ข้อ 10 ในการตกลงเรื่อง “ความรับผิดของผู้รับจ้าง” ได้มีการระบุเอาไว้ว่า ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุความเสียหาย หรือภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และจะต้องรับผิดต่อความเสียหายจากการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับจ้าง และจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างช่วงด้วย (ถ้ามี)

ความเสียหายใดๆ อันเกิดแก่งานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้น แม้จะเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบโดยซ่อมแซมให้คืนดี หรือเปลี่ยนให้ใหม่ โดยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดของผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้ความรับผิดของผู้รับจ้างดังกล่าวในข้อนี้จะสิ้นสุดลง เมื่อผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานครั้งสุดท้าย ซึ่งหลังจากนั้นผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพียงในกรณีชำรุดบกพร่อง หรือความเสียหายดังกล่าวในข้อ 7 เท่านั้น

นอกจากนี้ ในข้อดังกล่าว ยังมีการระบุเพิ่มอีกด้วยว่า “ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับจ้าง รวมถึงผู้รับจ้างช่วง (ถ้ามี) ตามสัญญานี้ หากผู้ว่าจ้างถูกเรียกร้องหรือฟ้องร้องหรือต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการว่าต่างแก้ต่างให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง รวมทั้งผู้รับจ้างจะต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้นๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายใดๆ อันเกิดจากการถูกเรียกร้องหรือถูกฟ้องร้องให้แก่ผู้ว่าจ้างทันที”..