เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ระบุว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 53 มีกระบวนการที่ทำให้เห็นว่าไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากมีกระบวนการทั้งศาลและ ป.ป.ช. เข้ามา โดย 2 ส่วนนี้ทำให้ญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเขารอคำตอบอยู่ เนื่องจากการสลายการชุมนุมปี 53 เกิดจากการสั่งการ หรือการอนุมัติให้ใช้กองกำลังของกองทัพซึ่งเป็นทหาร เมื่อทหารได้รับมอบหมายและได้นำกำลังพล รวมทั้งอาวุธสงคราม โดยเฉพาะอาวุธปืนประจำกายที่บรรจุกระสุนปืนจริงมาใช้แก้ไขปัญหา ย่อมทำให้มีสถานการณ์ทั้งเฉพาะหน้า และสถานการณ์ที่จงใจทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนเกิดขึ้น

นายวิญญัติ กล่าวว่า สิ่งที่พูดมีหลักฐานยืนยันได้จากการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในการชุมนุม ทั้งจากศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้ง 2 ศาลได้มีการไต่สวน และชี้ว่าเป็นการตายที่เกิดจากกระสุนความเร็วสูง ซึ่งมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยกระสุนดังกล่าวมีขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งไม่ใช่กระสุนที่พลเรือน หรือประชาชนทั่วไปจะใช้ได้ และใช้อยู่ในวงราชการทหารเท่านั้น ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำ และชี้ชัดว่า อาวุธที่ทหารนำมาใช้จัดการกับสถานการณ์นั้น เกินสมควรกว่าเหตุ

ดังนั้นเมื่อเกินกว่าเหตุเช่นนี้ การดำเนินการกับคนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนกลางกรุงกว่า 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน จึงสะดุดอยู่เท่านี้ นี่คือคำถามของญาติ และผู้ที่เฝ้าติดตาม เมื่อเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ เพราะกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้โปร่งใส ไม่ได้ทำให้เรื่องนี้ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง มาสะดุดอยู่ที่ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอำนาจในการสอบสวน

ส่วนกรณีของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ที่ถูกตัดสินว่าการดำเนินการสอบสวนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซ้ำยังถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการให้ใช้ทหารไปจัดการฟ้องกลับ คำถามมากมายจึงเกิดขึ้นกับคนในสังคม ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า เหตุใดคนที่เป็นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสั่งการทหารกลับถูกดำเนินคดี และติดคุกเสียเอง แต่อีกฝั่งที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหาร จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย กลับไม่ถูกดำเนินคดีอย่างเต็มรูปแบบและตรงไปตรงมา เรื่องนี้ควรได้รับการสะสางอย่างเป็นรูปธรรม และโปร่งใสจริงๆ หรือไม่

“คาดหวังว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่ หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้ามาใหม่ก็ตาม ควรหาช่อง หรือวิธีการในการตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการใดๆ ก็ตามมาตรวจสอบ ไต่สวนและพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง” นายวิญญัติ กล่าว