นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ก.พ. มีประชาชนใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบ รวม 1,577,330 คน ซึ่งเป็นตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการสูงที่สุด (New Hight) นับตั้งแต่มีระบบรางในประเทศไทย แบ่งเป็น รถไฟ จำนวน 73,659 คน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 72,737 คน, รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) จำนวน 29,129 คน, รถไฟฟ้า MRT สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) รวมจำนวน 479,056 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียว และสีทอง) รวมจำนวน 922,749 คน

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าวนอกจากจะพบว่า เป็นวันที่ผู้โดยสารใช้บริการระบบขนส่งทางรางมากที่สุดแล้ว ยังเป็นการทำสถิติปริมาณผู้โดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าบีทีเอส นับตั้งแต่เปิดให้บริการของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายด้วย ทั้งนี้หากเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันภายหลังผ่อนคลายมาตรการ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ในปี 66 (1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน) กับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 62 (1 ม.ค.-31 มี.ค. 62) พบว่า ขณะนี้ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันของปี 66 สูงกว่าปี 62 ประมาณ 3% โดยปี 62 ผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 1,228,822 คน ส่วนปี 66 ผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 1,265,320 คน

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางราง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันศุกร์ นอกจากจะมาจากการที่รัฐบาลคลายล็อกมาตรการการเดินทางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงประชาชนเดินทางออกจากบ้านกันมากขึ้นแล้ว ยังพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น เพราะสะดวกในการเดินทาง และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรติดขัดบนถนน อย่างไรก็ตาม ขร. กำชับผู้ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบ เตรียมความพร้อมอยู่ตลอด โดยเฉพาะการปรับเพิ่มความถี่ และบริหารจัดการความหนาแน่นภายในขบวนรถไม่ให้เกินมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร และลดความแออัด.