เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของส.ว.ที่ลงคะแนนเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯนั้น มี 13 คน ได้แก่ 1.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 3.นายเฉลา พวงมาลัย 4.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล 5.พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒน์ รอดบางยาง 6.นายพิศาล  มาณวพัฒน์  7.นายพีระศักดิ์ พอจิต 8.นายมณเฑียร  บุญตัน 9.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์10.นายวันชัย สอนศิริ 11.นายสุรเดช  จิรัฐิติเจริญ  12.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 13.นางประภาศรี  สุฉันทบุตร  เกือบทั้งหมดเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า จะลงมติสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี  อย่างไรก็ตามปรากฏว่า มีส.ว.บางส่วนที่เคยระบุจะลงคะแนนสนับสนุนนายพิธา แต่กลับไม่ลงมติให้ อาทิ น.ส.ภัทรา วรามิตร  นายประมาณ สว่างญาติ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ นางประยูร เหล่าสายเชื้อ  นายดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม ที่ไม่ยอมลงมติ  ขณะที่นายรณวริทธ์ ปริยฉัตรตระกูล นายทรงเดช เสมอคำ ที่ลงมติงดออกเสียง

นอกจากนี้ยังพบว่า  ส.ว.ที่ขาดประชุม  ยังมีในส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งนั้น ทั้ง พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม  พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ.อลงกรณ์  วัณณรถ  ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นั้น มีจุดยืนในการทำหน้าที่ ส.ว.มาตั้งแต่ประกาศไม่รับเงินเดือนแล้ว โดยจะงดออกเสียงในประเด็นทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการวางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันของ ผบ.เหล่าทัพและยึดปฏิบัติ ถือเป็นแนวทางเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนการลงคะแนนโหวตนายกรัฐมนตรี มีส.ว.ลาการประชุมทั้งหมด 33คน ทำให้เหลือจำนวน ส.ว.ที่เข้าร่วมประชุม 216 คน อย่างไรก็ตามปรากฏว่า ในการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี  มีส.ว.ที่ขานชื่อลงมติเพียง 205คนเท่านั้น แสดงว่า มี ส.ว.อีก 11คน ที่ไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ยอมร่วมลงมติใดๆทั้งสิ้นในการโหวตนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนการลงคะแนนของส.ส.ปรากฎว่า ลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดย 8พรรคร่วมรัฐบาลลงคะแนนในทิศทางเดียวกันทั้ง 312 เสียงคือ  “เห็นชอบ”นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ส่วนใหญ่ลงมติไปในทาง “ไม่เห็นชอบ”นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย(ภท.)  พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.)  พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ลงมติ “งดออกเสียง”  ส่วนพรรคเล็ก ก็ลงมติแตกต่างกัน อาทิ พรรคใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน  ลงมติงดออกเสียง  ขณะที่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคท้องที่ไทย ลงมติไม่เห็นชอบ

ทั้งนี้มีส.ส.เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ 499 คน จากจำนวน 500คน ขาดไป 1คน คือ นายศักดิ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล