เมื่อวันที่ 19 ก.ค. โลกออนไลน์ต่างพูดถึงแถลงการณ์ขององค์กรนิสิตและนักศึกษา มหาวิทยาลัยชื่อดังของไทย ที่ต่างออกแถลงการณ์ถึงการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา ต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ภายหลังจากผลลงมติโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มี สว. เห็นชอบเพียง 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 34 เสียง และเลือกงดออกเสียงถึง 159 เสียง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงนั้น

โดยทาง องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ร่วมกับคณะกรรมการ/สโมสรนิสิต 16 คณะ ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า “แถลงการณ์ร่วมองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ประณามการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของสมาชิกวุฒิสภา และเรียกร้องให้รับรองนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี” สืบเนื่องจากวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 รัฐสภาได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นผู้เดียวที่ได้รับเสนอชื่อ ผลปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งจำนวน 324 เสียง ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบจำนวน 182 เสียง และงดออกเสียง จำนวน 199 เสียง ซึ่งในจำนวนผู้งดออกเสียงนั้นมี 159 เสียงมาจากสมาชิกวุฒิสภา โดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบที่กล่าวมานั้นไม่เกินกึ่งหนึ่ง ของสมาชิกรัฐสภา เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 272 ส่งผลให้ ประชาชนสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันเป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารในปีพุทธศักราช 2557 โดยมิได้ยึดโยงกับประชาชน แต่กลับสามารถ ขวางกั้นฉันทามติของประชาชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ 7 พรรคการเมือง รวมคะแนนเสียงกว่า 27 ล้านเสียงนั้นไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งตามหลักประชาธิปไตยสากลที่วิญญูชนพึงยึดถือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ย่อมมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคติพจน์ประการหนึ่งที่นิสิตทุกคนพึงระลึกและยึดถือเป็นเครื่องเตือนใจเสมอว่า “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” อันบ่งบอกถึงความภูมิใจของนิสิตจุฬาฯ ที่ได้นำความรู้ความสามารถไปรับใช้สังคม สำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่จบ การศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ การลงคะแนนเสียงในครั้งนี้คือโอกาสอันสำคัญยิ่งที่จะแสดงเจตนารมณ์ซึ่งสะท้อนถึงอุดมการณ์แห่งสถาบันที่ได้เล่าเรียนมา เนื่องด้วยท่านเป็นผู้ที่เคารพฉันทามติของประชาชนอย่างแท้จริง เหมาะสมซึ่งการเป็นผู้มีจริยธรรม เคารพในหลักการประชาธิปไตย รับใช้ประชาชน และคงไว้แห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ

สุดท้ายนี้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอประณามการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาที่ลงมติขัดต่อเจตจำนงของประชาชน และเรียกร้องให้ท่านยอมรับและเห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รวบรวมเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง อันเป็นการคืนความปกติแก่ระบอบประชาธิปไตย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในชาติและนานาอารยประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้าอย่างสง่างาม “พึงระลึกว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

นอกจากนี้ ทางด้านสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “มติไม่เห็นชอบให้นายพิชา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1” โดยระบุว่า จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 โดยมีวาระการประชุมที่ (5) เรื่องที่เสนอใหม่ คือ “พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” โดยผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นต้องมีคะแนนเสียงมากกว่า 375 เสียงหรือมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรคสาม ซึ่งมติที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบให้นายพิธา สิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาภายในคณะเรื่อง “การเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค. 66” จากแบบสำรวจตังกล่ว นักศึกษาภายในคณะ มีความเห็นตรงกันว่า สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ควรเคารพเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งมากที่สุด หรือ 14,438.851 คน หรือ 36.5% ของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอบัญชีนายกฯ คือ นายพิชา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกวุฒิสภากลับไม่เคารพเสียงของประชาชนโดยการลงมติไม่เห็นชอบ 34 เสียง และงดออกเสียง 159 เสียง จากสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 249 คน จึงทำให้คะแนนเสียงน้อยกว่า 375 เสียงหรือน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฏร

การกระทำของสมาชิกวุฒิสภาลังกล่าวเป็นการขัดขวางการดำเนินของระบอบประชาชิปไตย อันอาจเป็นการสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งมีผลทำให้เกิดการหยุดชะงักในการพัฒนาประเทศ

สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา นายพิชา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.), @สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. KMITL Engineering Student Association