อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เเคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ผู้ที่ชนะเสียงในการเลือกตั้งจากประชาชน กลับหมดสิทธินั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดทำหน้าที่ สส. ปมมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น (หุ้นสื่อ) โดยในที่ประชุมมีประกาศและลงมติว่า “การเสนอชื่อพิธาให้โหวตเป็นนายกฯ ขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ 41”
เห็นด้วย (ไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ) 395 คะแนน
ไม่เห็นด้วย (เสนอชื่อซ้ำ) 312 คะแนน
งดออกเสียง 8 คะแนน
ไม่ลงคะแนน 1

โดยตามหลักทางการเมือง คาดว่าในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไปจะเริ่มจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกล มี สส. 151 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อหมดสิทธิแล้ว ต่อมา พรรคที่มีสิทธิเสนอชื่อ คือพรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร, ชัยเกษม นิติสิริ

จากนั้นจะเป็นในส่วนของฝั่ง แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย มี สส. 71 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ อนุทิน ชาญวีรกูล ตามด้วย พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ปิดท้ายด้วย พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

โดยตามกฎหมายมาตรา 159 ที่มานายกฯ เขียนระบุว่า ผู้ที่สมควรได้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคนั้นจะต้องได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือจำนวน 25 เสียงขึ้นไป ประกอบกับ มาตรา 272 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชั่วคราวว่า ให้ สว. 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย…