นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เอกชนกำลังติดตามการจัดตั้งรัฐบาลใกล้ชิด ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังยืนยันอยากเห็นให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมคือภายใน ส.ค. นี้ และสิ่งสำคัญต้องการรัฐบาลเสียงข้างมากและมีเสถียรภาพ ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ 8 พรรคการเมืองผนึกกำลัง เพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สิ้นสุดวาระใน 10 เดือนนั้น จะมีผลกระทบต่อการลงทุนแต่จะมากน้อยเพียงใด ส.อ.ท. อยู่ระหว่างการศึกษาในภาพรวม

“เอกชนเองอยากให้ได้ภายใน ส.ค. หากยิ่งช้า ยิ่งกระทบ แต่กรณีให้รอ 10 เดือน เพื่อให้ สว. หมดวาระนั้น ได้มอบหมายให้นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. ศึกษาผลกระทบในทุกด้าน หากถามรอได้ไหมนั้น นักลงทุนแต่ละชาติรอได้ไม่เท่ากัน อย่างนักลงทุนไทยบางส่วนอาจรอได้ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่นักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยการเมืองไทย เช่น สหรัฐ และยุโรป คงไม่รอ ญี่ปุ่นเองอยู่เมืองไทยจนเข้าใจก็อาจรอได้ ดังนั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องศึกษาเพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยเองก็เปราะบางอยู่แล้วจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก”

ทั้งนี้โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยที่กระทบต่อการส่งออกของไทยที่ปีนี้มีแนวโน้มไม่เติบโต ถึงติดลบ 2% แม้ว่า การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแต่หากการเมืองไม่นิ่งจนนำไปสู่การประท้วง อาจฉุดเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวไม่มาปลายปีที่เป็นไฮซีซั่น จะกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ต้องเร่งเตรียมพร้อม รวมไปถึงค่าครองชีพประชาชนในประเทศที่ยังคงสูงส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคธุรกิจอยากเห็นความมีเสถียรภาพทางการเมืองกรณีที่เสนอแนะให้รอ 10 เดือน คงจะรอไม่ไหว เพราะเศรษฐกิจไทยจะต้องมีมาตรการมาช่วยขับเคลื่อนที่ต้องอาศัยงบประมาณโดยเฉพาะงบปี 67 หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า งบก็จะยิ่งล่าช้าออกไป ทั้งนี้มองว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ได้ ขอให้มีเสถียรภาพและเข้าใจเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย