เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 เพื่อนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน M-MAP 2 และการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง

นายพิเชฐ กล่าวว่า จากผลศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งจากการทบทวนแผน M-MAP เดิมที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และแผน M-MAP 2 Blueprint  ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ที่เคยศึกษาไว้ รวมถึงข้อเสนอจากหน่วยงาน และประชาชน ได้ข้อสรุปว่า M-MAP 2 มีแนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ 33 เส้นทาง แบ่งเป็น 1.เส้นทาง M-MAP เดิมที่ยังไม่ดำเนินการ 8 เส้นทาง 2.เส้นทางใหม่ 14 เส้นทาง และ 3.เส้นทางต่อขยาย  11 เส้นทาง ทั้งนี้จะให้สร้างทุกเส้นทางพร้อมกันคงไม่ได้ จึงใช้แบบจำลองโดยนำข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาจัดลำดับความสำคัญของทั้ง 33 เส้นทาง โดยบางเส้นทางได้ตัดแบ่งเป็นช่วงที่จำเป็นเพิ่มอีก ทำให้มีจำนวนเส้นทางเพิ่มขึ้นมากกว่า 33 เส้นทาง แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่ม A1, กลุ่ม A2, กลุ่ม B และกลุ่ม C

สำหรับกลุ่ม A1 คือ เส้นทางที่มีความจำเป็น พร้อมดำเนินการทันที 4 เส้นทาง วงเงินรวม 63,474 ล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์(รถไฟฟ้าชานเมือง : Commuter) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท 2.รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา(Commuter) ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท  3.รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช(Commuter) ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท และ 4. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม (รถไฟฟ้ารางเบา : Light Rail) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงิน 41,720 ล้านบาท

ส่วนกลุ่ม A2 คือ เส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน 6 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ – หัวลำโพง (Commuter) 2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส (รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ : Heavy Rail) 3.รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า – ตลิ่งชัน (Heavy Rail) 4. รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่ – บางบอน (Commuter) 5.รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ (Light Rail) 6. รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ (Light Rail)

ขณะที่กลุ่ม B คือ เส้นทางที่มีศักยภาพ 9 เส้นทาง ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง –ท่าพระ (Light Rail) 2. รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาทร – ดินแดง (Light Rail) 3.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ลำลูกกา(Light Rail) 4.รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต– วงแหวนรอบนอก(Heavy Rail) 5.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน -รัตนาธิเบศร์ (Heavy Rail) 6.รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ – บางปู (Heavy Rail) 7. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 (Heavy Rail) 8. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน – มหาชัย – ปากท่อ (Commuter) และ 9. รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ (Commuter)

และกลุ่ม C คือเส้นทางที่จะดำเนินการเป็นระบบ Feeder เช่น Tram ล้อยาง, รถเมล์ไฟฟ้า 26 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทาง ลาดพร้าว – รัชโยธิน – ท่าน้ำนนท์ 2.เส้นทาง ดอนเมือง – ศรีสมาน 3.เส้นทาง ศาลายา – มหาชัย 4.เส้นทาง ศรีนครินทร์ – บางบ่อ 5.เส้นทาง คลอง 6 – องค์รักษ์ 6.เส้นทาง รัตนาธิเบศร์ –แยกปากเกร็ด 7.เส้นทาง คลองสาน – ศิริราช 8.เส้นทาง บางซื่อ – พระราม 3 9.เส้นทาง ราชพฤกษ์ – แคราย 10.เส้นทาง พระโขนง – ศรีนครินทร์ 11.เส้นทาง บางซื่อ – ปทุมธานี 12.เส้นทาง เมืองทอง – ปทุมธานี 13.เส้นทาง บางแค – สำโรง 14.เส้นทาง แพรกษา – ตำหรุ

15.เส้นทาง ธรรมศาสตร์ – นวนคร 16.เส้นทาง บางนา – ช่องนนทรี 17.เส้นทางสุวรรณภูมิ – บางบ่อ 18.เส้นทาง บรมราชชนนี – ดินแดง – หลักสี่ 19.เส้นทาง ธัญบุรี– ธรรมศาสตร์ 20.เส้นทาง คลอง 3 – คูคต 21.เส้นทาง มีนบุรี – สุวรรณภูมิ – แพรกษา – สุขุมวิท 22. เส้นทาง เทพารักษ์ – สมุทรปราการ 23.เส้นทาง บางใหญ่ – บางบัวทอง 24.เส้นทาง บางปู – จักรีนฤบดินทร์ 25. เส้นทาง ครุใน – สมุทรปราการ และ 26. เส้นทาง ปทุมธานี– ธัญบุรี

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่ ขร. ก็พร้อมเสนอผลการศึกษาดังกล่าวทั้ง 33 เส้นทางที่มีการจัดลำดับความสำคัญให้ครม. พิจารณาทันที ซึ่ง 10 เส้นทางในกลุ่ม A1 และ A2 เป็นเส้นทางเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ มีความจำเป็นจริงๆ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าต้องดำเนินการก่อสร้าง และพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 72 โดยขณะนี้ 3 เส้นทางสายสีแดงในกลุ่ม A1 พร้อมเสนอ ครม. ชุดใหม่พิจารณาเพื่อดำเนินการก่อสร้างทันที ส่วนสายสีน้ำตาล เหลือเพียงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ศึกษาผลกระทบอีกเล็กน้อย โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานว่าส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเหลือง และจะดำเนินการต่อได้หรือไม่ ซึ่งกลุ่ม A1 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4-5 ปีนี้แน่นอน ส่วนกลุ่ม A2 ยังมีเงื่อนไขที่ต้องปรับแก้ของแต่ละเส้นทางอยู่ แต่ตั้งใจว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 72

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่ม B ขณะนี้ให้เตรียมพร้อมตัวเองไปเรื่อยๆ ก่อน เพราะการพัฒนาของเมืองจะเปลี่ยนไปทุก 5 ปี ดังนั้นประมาณปี 71-72 จึงมาทบทวนใหม่อีกครั้งว่าปริมาณผู้โดยสารมีการเติบโตขึ้นหรือไม่ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการเงินหรือไม่ เพราะปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารกับความคุ้มค่าฯ ยังไม่เพียงพอ ส่วนกลุ่ม C ปริมาณผู้โดยยังน้อยมาก จึงควรต้องเริ่มจากรถเมล์ไฟฟ้าไปก่อน อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าวนี้เป็นผลการศึกษาสุดท้ายแล้ว แต่หากผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังมีข้อมูลที่ ขร. ไม่ได้นำมาพิจารณา และเห็นว่าเป็นเส้นทางที่จำเป็นก็เสนอมาได้

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า 10 เส้นทางในกลุ่ม A1 และ A2 เมื่อเปิดให้บริการจะไม่มีปัญหาการเก็บค่าแรกเข้า ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อได้โดยจะเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้แล้วให้ระบุในสัมปทานให้ชัดเจนว่าห้ามคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ส่วนเรื่องรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ขร. มองว่า รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนระบบเดินรถ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมแล้ว แต่ในอนาคตหากต้องการให้มีการเก็บค่าโดยสารที่ถูกลง รัฐอาจต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนค่าระบบฯ บางส่วนกับเอกชนด้วย.