สืบเนื่องจากกรณีที่มีการรายงานอ้างว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางเยือนประเทศจีน โดยยังได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของจีน พร้อมกับนำเงินจำนวน 400-500 ล้านบาท ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สามารถยึดได้จากคดีการกระทำความผิดของชาวจีนเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาในประเทศไทย และเมื่อขายทอดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าวเข้าสู่ตลาดเสร็จสิ้น จึงได้นำเงินมอบคืนให้แก่ประเทศจีน เพื่อเฉลี่ยคืนผู้เสียหายนั้น

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สืบเนื่องจากปลายปี พ.ศ. 2558 นายจาง ชิงตวน ผู้กระทำความผิดชาวจีน ได้ก่อตั้งบริษัทที่เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน หลอกลวงผู้เสียหายชาวจีน ว่ามีการสำรวจพบสมบัติชาติอยู่ที่ต่างประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งปันผลประโยชน์จากสมบัติดังกล่าวให้แก่บุคคลที่สมัครเป็นสมาชิก มีการแสดงหลักฐานเท็จ โดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนอัตราสูงให้แก่สมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และให้สมาชิกชักชวนคนอื่นเข้าร่วมลงทุนลักษณะลูกโซ่ มีผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวจีนจำนวน 33,982 คน กระจายอยู่ใน 30 เมืองทั่วประเทศจีน มูลค่าความเสียหายประมาณ 200 ล้านหยวน โดยพบว่ามีการโอนเงินมายังประเทศไทยประมาณ 650 ล้านบาท

เลขาธิการ ปปง. กล่าวอีกว่า สำนักงาน ปปง. ได้ร่วมมือกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินและพฤติการณ์ ในการกระทำความผิดฐานอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถยึดและอายัดทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเทมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทย มูลค่ากว่า 530 ล้านบาท โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อปี 2562 ให้คืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และเนื่องจากกรณีดังกล่าว ถือว่าเป็นกรณีแรกของประเทศไทยในการดำเนินการคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายในต่างประเทศ ที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลไทยนำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายชาวจีน จำนวน 2 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 62 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66

เลขาธิการ ปปง. กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งสองครั้งนั้น สำนักงาน ปปง. ได้ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้ผู้เสียหายชาวจีน ตามคำสั่งถึงที่สุดของศาล รวมมูลค่ากว่า 408 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งที่ 2 นายหวัง เสี่ยวหง (H.E. Wang Xiaohong) รัฐมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้แทนรัฐบาลจีน ในการรับมอบทรัพย์สิน ณ เรือนรับรองเตียวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และแจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือความร่วมมือในด้านความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบในการกระชับความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดระหว่างประเทศมีความรวดเร็วมากขึ้น มีวิธีการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการแสวงหาความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านบุคลากร ความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสองหน่วยงาน จะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการปราบปรามและตัดวงจรอาชญากรรม รวมทั้งการติดตามทรัพย์สินที่ได้มาจากกระทำความผิดคืนกลับสู่ทั้งสองประเทศ

เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. มุ่งมั่นในการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมมือกับนานาประเทศ ในการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สิน และการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด และหากประชาชนพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ปปง. ได้ที่สายด่วน ปปง. 1710

ขณะที่ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานจากแหล่งข่าวภายในกระทรวงยุติธรรมเพิ่มเติม ว่า สำหรับที่มาของเงินที่มีการนำไปมอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของจีนนั้น มาจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวจีนในคดีฉ้อโกงชาวจีนด้วยกัน และได้หนีหมายจับมาหลบซ่อนภายในประเทศไทย ก่อนทำการฟอกเงินจากการกระทำความผิดผ่านทรัพย์สินหลายรูปแบบ อาทิ ฟอกเงินผ่านอสังหาริมทรัพย์ และเงินสด เป็นต้น โดยภายหลังจากที่ตำรวจไทยจับกุมแก๊งผู้ต้องหาเหล่านี้ได้ จึงทำการยึด อายัด รายการทรัพย์สินทั้งหมดที่ผู้ต้องหานำเข้ามา จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย (รมว.มท.ประเทศจีน) ซึ่งถ้าหากทรัพย์สินใดที่สามารถคืนผู้เสียหายได้ทันที ปปง. ก็ได้เร่งดำเนินการ จึงปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปปง. ได้มีการคืนทรัพย์สินแก่ประเทศจีน ในฐานะผู้เสียหายจำนวน 2 ครั้ง ตามข้อมูลที่ปรากฏ.