เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และในฐานะรองผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำพยานกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร เกี่ยวกับการนำเข้าซากสุกร ตามพิธีการศุลกากร รวมถึงยังมีเอกสารจากกรมศุลกากร ลงวันที่ 21 ก.ค. เรื่อง ขอให้พิจารณาเรื่องการดำเนินการกับวัตถุพยานในคดี (ซากสุกรแช่แข็ง) ส่งมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในเอกสารลงนามโดยนายคณิต มีปิด ผอ.กองกฎหมาย ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ระบุใจความว่า “ตามหนังสือที่อ้างถึงสำนักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่าได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน คดีพิเศษที่ 59/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทจากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นความผิดตามมาตรา 244 และมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีการลงพื้นที่ในการตรวจสอบสินค้าที่ถูกตรวจ ยึดเอาไว้ จำนวน 161 ตู้ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงขอความร่วมมือไปยังผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าว ในวันที่ 5-14 ก.ค. 66 ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น เนื่องจากกรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แจ้งว่าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าทำการตรวจสอบสินค้าที่ตรวจยึดจำนวน 161 ตู้ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงมีประเด็นสอบถามว่า หากกรมศุลกากรจะส่งมอบสินค้าที่ตรวจยึดดังกล่าวให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลาย จะทำให้ขาดพยานหลักฐานหรือเสียหายรูปคดีของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่ ประการใด ดังต่อไปนี้ 1.กรณีสินค้าจำนวน 159 ตู้ ที่ไม่มีการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าในระบบของกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษจะขัดข้องหรือไม่ อย่างไร ในการส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการทำลาย 2.กรณีสินค้าจํานวน 2 ตู้ ที่มีการยื่นขนสินค้าขาเข้าในระบบของกรมศุลกากร ซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาตามกฎหมายศุลกากร จะให้ดำเนินการเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวอย่างไร” ทั้งนี้ กรณีสินจํานวน 2 ตู้ จากทั้งหมด 161 ตู้ ที่มีการยื่นขนสินค้าขาเข้าในระบบของกรมศุลกากรนั้น มีการยื่นก็จริง แต่ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยอีกว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยาน 2 ราย ได้แก่ ช่วงเวลา 09.00 น. สอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นผู้กล่าวหาที่ 2 เนื่องจากผู้กล่าวหาที่ 1 คือ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ส่วนช่วงเวลา 10.00 น. สอบปากคำตัวแทนสายเรือบริษัท หยางหมิง จำกัด (จากทั้งหมด 17 สายเรือ) อย่างไรก็ตาม การสอบปากคำพยานทั้งสองส่วนดังกล่าวเป็นไปด้วยดี พยานให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน เช่น การสอบปากคำเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทที่ว่าจ้างสายเรือทั้ง 17 แห่ง คือบริษัทใด ส่วนการสอบปากคำสายเรือ จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับใครเป็นผู้ว่าจ้างพวกเขา ซึ่งพบว่าเป็นนิติบุคคลไทย เป็นต้น ถือว่าขณะนี้เรามีพยานหลักฐานค่อนข้างครบถ้วน แม้ที่ผ่านมาทางกรมศุลกากรอาจจะมีความล่าช้าเรื่องการจัดเตรียมเอกสาร

เมื่อถามว่าเบื้องต้นพบว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการหมูเถื่อนบ้างหรือไม่ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยว่า เรื่องนี้ดีเอสไอเราจะทำอย่างโปร่งใสที่สุด โดยตอนนี้พนักงานสอบสวนขอใช้เวลา สอบสวนให้ลงลึก หากมีประเด็นใดที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมดำเนินการทางกฎหมายทั้งหมดกับทุกคน ส่วนประเด็นที่พนักงานสอบสวนมองไว้คือการสำแดงพิกัดที่ไม่ตรง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการควบคุมระบบ เนื่องจากจะมีปัญหาตรงที่ว่า สายเรือยืนยันว่า ตอนนำเข้าสินค้าได้มีการแจ้งเป็นเนื้อหมู แต่ทำไมพอถึงขั้นตอนของศุลกากร พบว่าเจ้าหน้าที่ที่คีย์ข้อมูลเข้าระบบมีการบันทึกข้อมูลเป็นสินค้าอย่างอื่นไม่เป็นเนื้อหมูตามที่สายเรือแจ้ง โดยมีการบันทึกข้อมูลเป็นอาหารแช่แข็ง (Frozen food) ในส่วนนี้พนักงานสอบสวนมองว่า เป็นความพยายามที่จะทำให้สินค้าซากเนื้อสุกรแช่แข็งเหล่านี้ผ่านเข้าช่องกรีนไลน์ (Green line) แทนที่จะต้องเข้าช่องเรดไลน์ (Red line) ในส่วนนี้จะต้องตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรรายใด ที่เป็นคนบันทึกข้อมูลสินค้าเข้าระบบ ซึ่งดีเอสไอจะมีการสอบปากคำผู้อำนวยการที่ควบคุมเรื่องระบบการบันทึกรายการสินค้าด้วย ซึ่งหากเป็นข้อเท็จจริง ก็จะหมายความได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรบางรายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยด้วยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัทสายเรือที่เหลือ ซึ่งจะต้องนำเอกสารเข้ามายื่น อีกทั้งดีเอสไอยังไม่มีการออกหมายเรียกพยาน/หมายเรียกผู้ต้องหาแก่บริษัทชิปปิ้งเอกชนรายใด เนื่องจากต้องสอบสวนเป็นไปตามขั้นตอนก่อน ส่วนวาระการประชุมครั้งถัดไปของคณะพนักงานสอบสวน จะเกี่ยวกับการพิจารณาร่วมกันทำลายของกลางในคดี ตามหนังสือที่กรมศุลกากรได้ส่งมายังดีเอสไอ ประเด็นที่ใช้พูดคุย คือ ขั้นตอนการขนย้ายของกลาง ทั้งวันที่ เวลา สถานที่ที่จะใช้ในการฝังกลบทำลาย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายสำหรับทำลายของกลางกว่า 12 ล้านบาทนั้น เราไม่ได้มีการใช้เงินของรัฐ อีกทั้งพื้นที่ที่จะใช้ฝังกลบทำลาย จากเดิมจะใช้พื้นที่ของทหาร ซึ่งจะต้องให้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD.) ตรวจความปลอดภัยของพื้นที่ ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนไปใช้พื้นที่ของกรมปศุสัตว์แทน แต่ยังอยู่ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เช่นเดิม.