เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งได้รับผลกระทบแบกรับภาระหนี้และการขาดทุน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กที่หลายแห่งได้ประกาศปิดกิจการลงนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) รับทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และเราได้พยายามวางแนวทางการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ให้อยู่รอดต่อไปได้

ซึ่งขณะนี้ สช. ได้ขอทบทวนหลักเกณฑ์เงินกองทุนกู้ยืมโรงเรียนเอกชนในระบบอยู่ ซึ่งการทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยเปิดทางให้โรงเรียนเอกชนได้ใช้เงินจากกองทุนนี้มาบรรเทาความเดือดร้อนได้ เพราะต้องยอมรับว่าโรงเรียนเอกชนไม่ได้เหมือนกับโรงเรียนของภาครัฐที่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังนั้นตนมองว่าหากจะทำให้โรงเรียนเอกชนอยู่รอด จะต้องใส่เรื่องของคุณภาพเข้าไป

“สิ่งที่ สช. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนให้อยู่รอด คือ นำหลักสูตรฐานสมรรถนะเข้าไปสอดแทรกในการบริหารจัดการเรียนการสอน โดยให้โรงเรียนเอกชนได้ไปออกแบบหลักสูตรของตัวเอง เช่น การสร้างห้องเรียนอาชีพ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพราะหลักสูตรฐานสมรรถนะจะเป็นหลักสูตรที่เน้นส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนในการปรับใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายในสถานการณ์จริง ออกแบบกลยุทธ์และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยพลิกแพลงและอย่างยืดหยุ่นในระยะยาว พร้อมกับสื่อสารกับผู้ปกครองให้มากขึ้นว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีจุดเด่นด้านไหนอย่างไร และ สช. จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ เนื่องจากผมมีนโยบายที่ต้องการให้โรงเรียนได้ออกแบบการพัฒนาโรงเรียนเอง โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนจะต้องสร้างจุดแข็งของตัวเองให้ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การปรับแนวทางดังกล่าวได้มีการนำร่องไปแล้วในโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง และเร็วๆ นี้ จะโชว์ความสำเร็จของการปรับรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชน เพื่อเป็นต้นแบบให้สถานศึกษาอื่นๆ ได้นำไปต่อยอดได้” เลขาธิการ กช. กล่าว