เนื่องจากอากาศในสหรัฐปีนี้ซึ่งกำลังร้อนจัด ขณะเดียวกันก็มีพายุใหญ่ กลายเป็นสภาพที่เหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ยุงรำคาญ ซึ่งเป็นพาหะในการแพร่เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ นอกจากนี้ยังพบว่า สารเคมีสำหรับไล่ยุง และกำจัดไข่ของพวกมันเริ่มใช้ไม่ได้ผล

ร็อกซานน์ คอนเนลลี นักวิจัยและนักกีฏวิทยาทางการแพทย์แห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า ไม่เพียงแต่สารเคมีกำจัดแมลงจะเริ่มใช้ไม่ได้ผลในการกำจัดยุง แต่ยังส่งผลให้ยุงเหล่านี้มีความทนทานต่อสารเคมีมากขึ้น และสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าเดิม

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยิ่งสร้างความกังวลให้เหล่านักวิจัย จนต้องออกมาเตือนประชาชนระมัดระวังตัวจากแมลงเหล่านี้มากขึ้น อย่าปล่อยให้ตัวเองโดนกัดได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะยุงรำคาญซึ่งเป็นพาหะของไวรัสเวสต์ไนล์ 

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์นั้น ถือว่าเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในสหรัฐ คนส่วนใหญ่ที่โดนยุงซึ่งมีเชื้อไวรัสดังกล่าวกัด และถ่ายทอดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แทบจะไม่แสดงอาการป่วยเลย แต่สำหรับบางคน เชื้อตัวนี้กลับทำให้ล้มป่วยอย่างรุนแรงจนถึงขึ้นพิการหรือเสียชีวิตได้

จากสถิติของสหรัฐในปีนี้ที่นับจนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2566 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ใน 17 รัฐ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยด้วยไวรัสตัวนี้เพิ่มขึ้นสูงในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า

อัตราส่วนของผู้ที่ได้รับเชื้อเวสต์ไนล์ แล้วเกิดอาการป่วยคือ 1 ใน 5 โดยจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเนื้อตัว อาเจียนและท้องเสีย

ส่วนอัตราส่วนของผู้ที่ได้รับเชื้อเวสต์ไนล์แล้วเกิดอาการป่วยอย่างรุนแรงคือ 1 คนต่อผู้ป่วย 150 คน ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการด้านระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น ปวดศีรษะอย่างหนัก คอแข็ง ชัก เกร็ง สูญเสียการมองเห็น กลายเป็นอัมพาต ไม่รู้สึกตัวหรือเข้าภาวะวิกฤติ (โคม่า) สุดท้ายคือเสียชีวิต

ขณะนี้ยังไม่มียาที่สามารถรักษาหรือฆ่าไวรัสเวสต์ไนล์ได้โดยตรง ส่วนผู้ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแล้ว อาจมีอาการป่วยอย่างรุนแรง คือกลุ่มผู้สูงอายุที่เลยวัย 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว

ที่มา : insider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES