เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่เทศบาลนครเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง กรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย เพื่อนำเสนอข้อมูล และความสำคัญของโครงการแนวคิดเบื้องต้น แนวเส้นทางเลือก รูปแบบเบื้องต้นกระบวนการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ และร่วมให้ข้อคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯต่อไป

สำหรับภาพรวมโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นจาก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี หรือ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มีจุดสิ้นสุดที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษ(ด่วน) เก็บเงินค่าผ่านทาง ในรูปแบบทางเชื่อมเกาะ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ในส่วนของบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.ตลิ่งงามอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีนั้น มีทางเลือก  3 แห่ง ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด

อย่างไรก็ตามขณะนี้ กทพ. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ครบทั้ง 3 พื้นที่ ทั้งที่ อ.ขนอมจ.นครศรีธรรมราช, อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีแล้ว หลังจากนี้ที่ปรึกษาจะศึกษาเปรียบเทียบวิเคราะห์ และพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ได้เส้นทางที่เหมาะสมที่สุดจากทั้งหมด 7 เส้นทาง และจะนำมาเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ประมาณเดือน ธ.ค.66 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้มีประชาชน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน โดยในที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ขณะที่บางส่วนยังมีกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ ทั้งการก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามมีประชาชนรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า การจะทำอะไรก็ต้องมีทั้งผลดี และผลเสีย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะดี 100% ซึ่งหากประชาชน และประเทศชาติได้ประโยชน์มากกว่า ก็ต้องยอมเสียบ้าง 

สำหรับในส่วนของจุดเริ่มต้นที่กำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะขึ้นที่จุดใดนั้น ประชาชนบางรายก็เห็นว่า จะมีจุดเริ่มต้นจากจุดใดก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับท้องถิ่น เพื่อดูแลทั้งจุดเริ่มต้นทาง และปลายทาง ขณะที่บางรายเสนอว่าควรเอาจุดกึ่งกลางของขนอม และดอนสัก หรือควรมีทางขึ้นใน 2 พื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ที่สำคัญจะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งความเห็นนี้ได้รับเสียงปรบมือจากคนในที่ประชุมด้วย

อย่างไรก็ตามมีประชาชนบางคนยังระบุด้วยว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ไม่อยากให้เป็นโครงการที่ทำให้เกิดความแตกแยก โครงการนี้จะสำเร็จได้ต้องไม่มีการแตกแยก ดังนั้น กทพ. และที่ปรึกษา ต้องมีการชี้แจง และทำความเข้าใจรวมทั้งต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนั้น เชื่อว่าหากทำได้ประชาชนก็จะเข้าใจ.