เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการฯ พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว รอง ผบก.บก.ปคบ.และ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมแถลงผลระดมกำลังจัดระเบียบร้านขายยา กวาดล้างเภสัชกรเถื่อน และร้านขายยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จับกุมผู้กระทำผิดได้ 13 ราย พร้อมยึดของกลาง 156 รายการ มูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท

พ.ต.อ.สุพจน์ เปิดเผยว่า ทาง อย. ประสานให้ตรวจสอบร้านขายยาในพื้นที่ กทม. ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้บุคลากรที่ไม่ได้เป็นเภสัชกรประจำร้านจ่ายยาให้กับลูกค้า โดยเฉพาะยาแก้แพ้-แก้ไอ ยาเขียวเหลืองให้วัยรุ่นใช้ผสมยาเสพติดชนิด 4×100 จึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบร้านขายยาทุกๆร้านจะต้องมีเภสัชกรประจำจ่ายยาให้กับลูกค้า ซึ่งผลการตรวจสอบร้านขายยา 14 ร้าน ประกอบด้วย ร้านไทยฟาร์มาซี จำนวน 5 สาขา, ร้านคลินิกยา 4 สาขา, ร้านพูนทรัพย์ฟาร์มาซี 2 สาขา, ร้านขายยาพาดาเจริญเภสัช 2 สาขา และร้านบ้านยาของขวัญ ในพื้นที่ กทม. สามารถจับกุมบุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกรจ่ายยารวมทั้งสิ้น 13 ราย พร้อมตรวจยึดยาปลอมได้ 572 ชิ้น ยาที่ไม่มีการขึ้นทะเบียน 212 ชิ้น ยาแก้ไอน้ำเชื่อม 24,722 ขวด ยาเขียวเหลืองหรือทรามาดอล 4,150 แคปซูล และยาควบคุมพิเศษอีกจำนวน 21 กล่อง

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ต้องหาที่ไม่ใช่เภสัชกร 13 ราย ตรวจสอบพบว่ามีวุฒิการศึกษาระดับชั้นมัธยม 3 จำนวน 3 ราย มัธยม 6 จำนวน 2 ราย และปริญญาตรี 8 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต โดยทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า รับจ้างเป็นพนักงานของร้านขายยา ทำหน้าที่ขายยาให้ลูกค้าประจำ แต่จะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ได้ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 1.2-1.8 หมื่นบาท

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนกลุ่มร้านขายยานั้น ตรวจพบเจ้าของรายเดียวมีการจดแจ้งขยายสาขา เพื่อหวังได้โควตาสั่งยาแก้ไอที่มีการจำกัดเอาไว้ให้เพียงร้านละ 300 ขวดต่อเดือน โดยยาแก้ไอดังกล่าวจะมีวัยรุ่นซื้อไปเป็นเครื่องดื่ม 4×100 ในพื้นที่ กทม. พบว่าระบาดมากในย่านรามคำแหง หัวมาก และลาดพร้าว เนื่องจากมีพี่น้องคนใต้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักพักอาศัยอยู่มาก ถูกแจ้งข้อหา ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และจะเสนอพักใช้ใบอนุญาต ขณะที่เภสัชกรที่มีป้ายชื่อปรากฏว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยา จะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตสองปี และดำเนินการทางคดีอาญาซึ่งเป็นโทษปรับ.