เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ว่า  โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น ไปสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง แล้วรับเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางผิวหนังเรา ที่ตอนนั้นอาจจะมีผิวแตก หรือเป็นแผลก็ได้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยถือว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมีความสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้  

ทั้งนี้ ในช่วงแรก ประมาณเดือนก.ค. 2565 – เม.ย. 2566 จะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว อย่างไรก็ตามคนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมาก หากไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง คนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสติดเลย อย่างช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ไม่มีผู้หญิงติดเชื้อเลย มีแต่ผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเรื่องเพศ เพราะจากการสอบสวนโรคพบว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย  

“ฝีดาษวานรเจอในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 จนถึง เม.ย. 2566 เจอแค่ 20 กว่ารายเอง แต่พอเดือน พ.ค.เจอ 20 กว่าราย เดือน มิ.ย.เจอเกือบ 50 ราย ก.ค.เจอเป็นร้อย ส่วนเดือนนี้ส.ค.คาดว่าก็น่าจะเป็นหลักร้อยรายเหมือนกัน แล้วเข้าไปในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง คือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีคู่นอนที่ไม่รู้จักและอาจติดเชื้อเวลาไปในที่ที่ปิดไฟมืดๆและมีเพศสัมพันธ์กัน” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย ซึ่งมีรายงานว่าติดเชื้อฝีดาษวานร และมีการติดเชื้อเอชไอวีด้วย แล้วเสียชีวิตจากเชื้อตัวไหน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า น่าจะเป็นสาเหตุร่วมกัน เพราะผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่เคยรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน เลยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษาเอชไอวีเลย เพิ่งมารู้ว่าติดเอชไอวีก็ตอนที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว  ดังนั้นภูมิคุ้มกันเลยต่ำมาก เพราะปกติคนติดเชื้อเอชไอวีหากไม่ได้รับการรักษา เม็ดเลือดขาว ซีดี 4 จะน้อย  ซึ่งรายที่เสียชีวิตนี้พบว่ามีระดับซีดี 4 เหลือแค่ 16 เท่านั้น อีกทั้งยังมีโรคซิฟิลิสด้วย พอติดเชื้อฝีดาษวานรเลยทำให้เกิดเชื้อรา ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ

เมื่อถามต่อว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรขณะนี้ ซึ่งมีจำนวนมากที่พบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้ว กลุ่มนี้ได้รับการรักษาเอชไอวีอยู่แล้วหรือไม่ กรณีที่มีการรักษาอยู่ก่อน หากรับเชื้อฝีดาษวานรจะทำให้โรคฝีดาษวานรแสดเป็นอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รู้ตัวอยู่แล้ว และรับยาอยู่ แต่มีบางส่วนที่อาจจะไม่รู้ตัวว่าติดเอชไอวีมาก่อน ทำให้โรคฝีดาษวานร และการติดเชื้อเอชไอวีรุนแรงขึ้นจนเสียชีวิตเหมือนรายที่เสียชีวิตรายแรก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาเอชไอวี พอติดเชื้อฝีดาษวานร ภูมิคุ้มกันต่ำก็จะทำให้ติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ได้ ทั้งนี้กรณีที่ติดเชื้อเอชไอวี แล้วอยู่ในกระบวนการรักษา ได้รับยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ จะไม่มีความผิดปกติอะไรที่แตกต่างจากคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ คือภูมิคุ้มกันใกล้เคียงปกติ  

เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ก็น่าเป็นห่วงในกลุ่มเสี่ยงที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงไม่น่าห่วงนัก โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมากคือ กรุงเทพ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเยอะ

“ดังนั้นขอให้ลดพฤติกรรมเสี่ยง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เชื้อกำลังเพิ่ม ถ้าเราสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงก็จะทำให้ปลอดภัย หากไปมีความเสี่ยงมาแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตัวเองว่า มีผื่น หรือตุ่มบริเวณที่สัมผัสหรือไม่ ทั้งอวัยวะเพศ ปาก หน้าท้อง แผ่นอก ถ้าลุกลามเป็นตุ่มหนองมากขึ้น บางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต ให้ไปตรวจรักษาที่รพ. สวมหน้ากากอนามัย เว้นการสัมผัสกับผู้อื่น ส่วนคนที่ไม่เป็นก็ขอให้ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้สรุปสถานการณ์เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ล่าสุด  จากเอกสารการกรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -15 ส.ค. 2566 มีผู้ป่วย 217 ราย เป็นชาวต่างชาติ 30 ราย คนไทย 187 ราย อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 20 – 64 ปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย อายุ 34 ปี มีการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้รับการรักษา ทั้งนี้มีรายงานการติดเชื้อใน 19 จังหวัด โดยมี 3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดงคือกรุงเทพฯ 136 ราย นนทบุรี 14 ราย ชลบุรี 9 ราย สีส้มมี 3 จังหวัดคือ สมุทรปราการ 9 ราย ภูเก็ต 8 ราย ปทุมธานี 7 ราย  ส่วนสีเหลืองมี 13 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ลพบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น พะเยา จังหวัดละ 2 ราย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครนายก เชียงราย อยุธยา จังหวัดละ 1 ราย และระยอง 3 ราย.