เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ บริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม นำโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงตอบข้อซักถามและขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องขังใหม่

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เราได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ในการรับตัวอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่เรือนจำ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตั้งแต่ขั้นตอนที่สนามบินดอนเมือง อาคารผู้โดยสาร อากาศยานส่วนบุคคล ขั้นตอนศาลฎีกา และขั้นตอนสุดท้าย เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ขณะที่นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามข้้นตอนและนโยบาย 3 ประการ คือ 1.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯจะดูเรื่องความปลอดภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก เพราะเรือนจำมีผู้ต้องขังหลายราย โดยเราจะดูทั้งเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร น้ำดื่ม และการเข้าเยี่ยมต่างๆ 2.เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีมีครอบครัว เพื่อน และองค์กรต่างๆที่จะเข้าเยี่ยมจำนวนมาก ทางเรือนจำจึงจัดสถานที่ให้เพียงพอต่อการเข้าเยี่ยมให้เรียบร้อยซึ่งตนได้มอบนโยบายให้กับผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ซึ่งปกติแล้วเราจะจัดการเยี่ยมตามแดนต่างๆ แต่ในส่วนนี้คงต้องมีการอะลุ่มอล่วย ซึ่งเรือนจำได้มีการจัดเตรียมห้องสำหรับการเยี่ยมไว้แล้ว 3.เนื่องจากอดีตนายกฯถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ มีอายุ 74 ปี โดยเรือนจำจะดูในเรื่องของสุขภาพเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยระหว่างอยู่ในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม เรือนจำฯได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง มีการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งขณะนี้อดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีความปลอดภัยเต็มที่ และในระหว่างการกักโรคหรือกระบวนการรักษา จะมีการประเมินวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง เป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯที่จะต้องดูแลให้เรียบร้อย

ด้านนายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เรือนจำฯ ได้รับตัวนายทักษิณ ไว้ตามหมายของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรวตำแหน่งทางการเมืองเรียบร้อย และเราได้ดำเนินการตามมาตรการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ มีการจัดทำทะเบียนประวัติ มีการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ของทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และพบว่านายทักษิณเป็นกลุ่มเปราะบาง อายุเกิน 60 ปี และเมื่อดูประวัติการรักษาโรคที่ผ่านมา ประกอบกับผลการตรวจแพทย์เบื้องต้น พบมีโรคประจำตัวที่จะต้องเฝ้าระวังและให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง และตรวจติดตามโดยแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้น เบื้องต้นทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้แยกคุมขังไว้ที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อความปลอดภัย โดยแยกไว้เฉพาะนายทักษิณคนเดียวและได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่า เราได้มีการจัดทีมแพทย์ และสหวิชาชีพเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในส่วนของโรคที่ยังเป็นประเด็นและจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากนายทักษิณมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและมีการรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องปอด เนื่องจากเคยมีประวัติเป็นปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ภาวะปอดอักเสบเรื้อรังถึงแม้จะหายแล้วแต่ยังคงมีอยู่เพราะมีภาวะผังผืดในปอดส่งผลทำให้มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทั้งโรคหัวใจและโรคปอดจำเป็นต้องเฝ้าระวังและได้รับการดูแลโดยบุคลากรแพทย์เพื่อประเมินว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ นายทักษิณยังมีเรื่องของความดันโลหิตสูงซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมและรักษาโดยการรับประทานยา ซึ่งการตรวจเบื้องต้นในวันนี้ยังพบว่ามีความดันโลหิตที่ผิดปกติอยู่ ส่วนโรคสุดท้าย คือ โรคภาวะเสื่อมทางอายุ เนื่องจากมีอายุ 74 ปี มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับและมีการตรวจพบด้วยกันสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI) พบว่ามีการกดทับเส้นประสาทส่งผลทำให้มีการปวดเรื้อรัง ทำให้การเดินการทรงตัวมีความผิดปกติ ซึ่งจากการตรวจเบื้องต้นและประวัติการรักษาทำให้เราเห็นว่านายทักษิณเป็นกลุ่มเปราะบาง ตามแนวทางปฎิบัติของเรือนจำทั่วประเทศนั้น กลุ่มเปราะบางจำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยและในกรณีที่มีการเจ็บป่วยจะได้เข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ นายแพทย์วัฒน์ชัย ระบุด้วยว่า จากการสแกน MRI ยังพบด้วยว่ากล้ามเนื้อบางมัดของอดีตนายกรัฐมนตรีมีการถูกกดทับจากเส้นประสาทจึงมีความอ่อนแรงเป็นบางส่วน ซึ่งการยกของหรือการอุ้ม จึงไม่สามารถดำเนินการได้ และสัญญาณชีพของอดีตนายกรัฐมนตรียังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และการตอบสนองต่อสิ่งอื่นยังอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากโรคหลักทั้งสี่โรคที่เราอยู่ระหว่างเฝ้าระวัง ก็ยังมีโรคอื่นที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางญาติว่าอดีตนายกฯได้รับการรักษาแบบใด ทีมแพทย์มีแผนการรักษาอย่างไรบ้างที่ผ่านมา ซึ่งเราจำเป็นต้องขอข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการประเมินการรักษาด้วย

ส่วนนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ กล่าวว่า ในเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ เมื่อรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่แล้ว จะจำแนกเข้าไปอยู่ในแดนขังตามลักษณะของผู้ต้องขัง กรณีที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เรามีความชัดเจนในการดูแล ต้องมีแดนที่อยู่เพื่อระมัดระวังดูแลความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นสถานพยาบาล มีเจ้าหน้าที่ทีมงานดูแลเรื่องความปลอดภัย ส่วนกิจกรรมภายในเรือนจำก็จะเป็นเหมือนกับผู้ต้องขังภายในเรือนจำทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับประทานอาหาร การทำภารกิจ ส่วนสิทธิการพบทนายนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาที่ผู้ต้องขังทุกคนมีสิทธิ์ในเวลาราชการที่จะพบทนายความ และการเยี่ยมญาติก็เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของราชทัณฑ์ ทั้งการวอล์คอิน (Walk-in) และการเยี่ยมผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์

โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุต่อว่า ทางเรือนจำมีแพทย์เฉพาะทางไม่ครบทุกประเภท โดยเฉพาะโรคหัวใจหรือการที่จะต้องทำการเอ็มอาร์ไอซึ่งเรายังไม่มีเครื่องมือจึงต้องมีการตรวจละเอียดอีกทีในภายหลังแต่เบื้องต้นยังไม่มีผลตรวจที่ละเอียด และยังต้องขอรอดูอาการเจ้าตัวอีกครั้ง เพื่อพิจารณาไปสู่มาตรการการขอรักษาตัวนอกเรือนจำ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุด้วยว่า ภายหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่เรือนจำ เราได้มีการให้เกียรติในฐานะอดีตนายกฯ โดยนายทักษิณได้สวมเสื้อสีขาว เดินเข้าไปประตูสองผ่านไปยังประตูสาม และเข้าไปในจุดที่ต้องมีการสอบประวัติ ใช้เวลาไม่นานและมีการพิมพ์ลายนิ้วมือ การถ่ายภาพ ส่วนอากัปกิริยาปกติดี ไม่มีความวิตกกังวลและไม่ได้ร้องขออะไรเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องการตัดผมนั้น ตามระเบียบก็จะต้องตัดผมรองทรงแต่ถ้าผมไม่ยาวมากก็ไม่จำเป็นต้องรีบตัด อย่างไรก็ต้องดูความเป็นผู้ใหญ่ด้วย และท่านเป็นผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่ม 608 ที่เราจะต้องระวังเป็นพิเศษ ส่วนขณะนี้นายทักษิณยังอยู่ในห้องกักโรคของสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งได้จัดให้อยู่คนเดียวไม่ปะปนผู้ต้องขังอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อครบระยะการกักโรคแล้วก็จำเป็นจะต้องดูว่าสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร หากมีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังแล้วย้ายอดีตนายกฯไปยังแดนขังร่วมกับผู้ต้องขังรายอื่นปะปนอยู่ด้วยก็อาจจะไม่เกิดความปลอดภัย จึงคาดว่าจะเป็นการอยู่ในแดนขังเพียงคนเดียว หรือ อยู่เดี่ยว หรืออาจจะมีผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ แต่ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง และในกรณีที่เรือนจำไม่มีแพทย์เฉพาะทางก็อาจจะมีการพิจารณาขอออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่ รพ.ตำรวจ ได้

สำหรับมาตรการการเข้าเยี่ยมนั้น โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า จะเป็นการกักตัวทั้งหมด 10 วัน แบ่งเป็น 5 วันแรก เป็นการกักตัวแบบเข้มข้นโดยอยู่ภายในห้องปิด ส่วนผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมจะมีแค่ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งตามกฏหมายเท่านั้น ส่วน 5 วันหลังจากนี้ จะเป็นการผ่อนปรนออกไปอยู่ที่ห้องบับเบิ้ลแทน ตรงนี้ จะมีการอนุญาตให้เยี่ยมได้แต่เป็นการเยี่ยมผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์เท่านั้น ในกรณีที่เป็นกลุ่มผู้ต้องขังเปราะบาง เราจะให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารเสริมหรือยารักษาโรค

นายนัสที กล่าวถึงประเด็นมาตรการการดูแลและการเยี่ยมญาติของกลุ่มผู้ต้องขัง 608 ว่า เรายึดหลักของความปลอดภัยเป็นสำคัญตั้งแต่เรื่องโควิด-19 เรามีทีมแพทย์ พยาบาล คอยตรวจค่าต่างๆ มีเรื่องของอาหารเสริม เป็นอาหารของเรือนจำฯ แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนข้างใน จึงมีระบบของการสงเคราะห์ เป็นระบบร้านค้าที่มีรายการอาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ซึ่งจะมีการใช้เงินซื้อวันละ 500-600 บาท สามารถสั่งซื้อเข้าไปภายในเรือนจำได้ และเมนูที่เราทำนั้น กองบริการทางการแพทย์ได้จัดทำเมนูที่ไม่มีโซเดียมหรืออันตรายต่อโรค ซึ่งเป็นเมนูที่ทุกคนสามารถเลือกบริโภคได้ เราไม่ริดรอนเรื่องสุขภาพ หากผู้ป่วยที่มียารักษาโดยเฉพาะทาง สามารถผ่านระบบการฝากได้ หากพยาบาลหรือแพทย์ตรวจเห็นชอบก็สามารถนำเข้าไปรักษาด้านในได้

ส่วนประเด็นเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ตามที่รักษาราชการแทนกระทรวงยุติธรรม นายวิษณุ เครืองาม ได้มีการระบุไปก่อนหน้านี้นั้น ทำให้ผู้ต้องขังสามารถดำเนินการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ แต่ขั้นตอนกระบวนการจะอยู่ที่เรื่องเอกสารว่ามีความเพียงพอหรือไม่ ปกติจะเป็นผู้ต้องขัง ญาติ หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องดำเนินการยื่นเอกสารทั้งหมดให้ทางเรือนจำจากนั้นทางเรือนจำจะมีคณะกรรมการที่จะพิจารณาเพื่อส่งไปยังกรมราชทัณฑ์ จากนั้นกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาส่งกระทรวงยุติธรรม และเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทำการลงนาม ยืนยันว่าเราพร้อม หากมีการยื่นเอกสารใดๆ ทั้งนี้ กรณีของนายทักษิณ จะเป็นการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายบุคคล คาดว่ากระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่นานไม่เกิน 1-2 เดือน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพราะมีเอกสารประกอบจำนวนมาก ส่วนขั้นตอนวินิจฉัยการขอพระราชทาน จะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่มิอาจก้าวล่วงได้ ไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน.