ทาคาชิมะ ชิงโง นายแพทย์หนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองโกเบซิตี ตกเป็นข่าวสะเทือนใจชาวญี่ปุ่น เมื่อเขาฆ่าตัวตายเมื่อเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว 

ทีมทนายความประจำครอบครัวของเขาเปิดเผยว่า ทาคาชิมะ ต้องทำงานหนักล่วงเวลาไม่ต่ำกว่า 207 ชม. และไม่เคยได้หยุดเลยแม้แต่วันเดียวเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน ก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจคิดสั้น 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โรงพยาบาลโคนัน เมดิคัลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ ทาคาชิมะ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีชั่วโมงทำงานของหมอหนุ่ม แม้ว่าเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานชันสูตรศพของทางการจะประกาศผลออกมาว่า การเสียชีวิตของ ทาคาชิมะ เกี่ยวเนื่องกับลักษณะการทำงานของเขาที่ต้องรับงานหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นการตอกย้ำปัญหาด้านแรงกดดันที่บุคลากรสาธารณสุขของญี่ปุ่นต้องเผชิญอยู่

ในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ ครอบครัวของ ทาคาชิมะ แสดงความโศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของหมอหนุ่มผู้ตกอยู่ในความรู้สึกสิ้นหวังจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง

ก่อนหน้าที่ ทาคาชิมะ จะฆ่าตัวตาย ทาคาชิมะ จุงโกะ แม่ของเขาเล่าว่า ลูกชายของเธอเอาแต่บอกว่า คงไม่มีใครอยากช่วยและคงไม่มีใครตามหาตัวเขา เธอคิดว่าสภาพแวดล้อมตัวลูกชายของเธอกดดันเขาจนถึงขีดสุด 

จุงโกะ กล่าวว่า ลูกชายของเธอไม่มีโอกาสได้เป็นหมอที่ดี ช่วยชีวิตคนไข้หรือทำงานเพื่อสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่เธอก็ยังว่าสภาพแวดล้อมในที่ทำงานสำหรับหมออีกหลายคนคงจะได้รับการปรับปรุง เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

น้องชายของ ทาคาชิมะ ซึ่งไม่มีการระบุชื่อตัว ก็กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ไม่ว่าจะมองมุมไหน ชั่วโมงทำงานของพี่ชายของเขาที่สูงถึง 200 ชม. (เฉพาะชั่วโมงทำงานแบบล่วงเวลา) ก็เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อ และเขาคิดว่าโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรอย่างจริงจังตั้งแต่แรก

แต่ในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โรงพยาบาลโคนัน เมดิคัลเซ็นเตอร์ กล่าวอ้างว่า กลุ่มแพทย์นั้นมีอิสระสูงในการทำงาน แพทย์หลายคนก็ใช้เวลาศึกษาข้อมูลและงีบหลับตามความจำเป็นของสภาพร่างกายอย่างอิสระ ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะระบุชั่วโมงทำงานที่ถูกต้องแท้จริง

นอกจากนี้ โฆษกของทางโรงพยาบาลยังตอบคำถามของผู้สื่อข่าวจากซีเอ็นเอ็นว่า ทางโรงพยาบาลไม่นับกรณีเสียชีวิตของนายแพทย์ ทาคาชิมะ ว่ามีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนักและจะไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้อีกต่อไป

ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีปัญหาเรื้อรังมานานเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานที่ผลักดันให้บุคลากรในองค์กรหรือบริษัทต้องทำงานหนักจนเกินพอดี จนเกิดศัพท์เฉพาะว่า ‘คะโระชิ’ (Karoshi) ซึ่งมีความหมายว่า “ทำงานหนักจนตาย” และกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายป้องกันการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บของพนักงานอันเนื่องจากการทำงานล่วงเวลาที่เกินพอดี

ที่มา : edition.cnn.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES