คณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้รับการแต่งตั้งเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหลายคนต่างจับจ้องไปที่นโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ที่ผ่านมายังเป็นข้อกังขาว่าเงินดิจิทัล หรือดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทจะออกมาในรูปแบบใด และจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ยืนยันด้วยตัวเองว่าจะทำได้จริงและจะเริ่มช่วงต้นปี 2567 แถมยังได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทำระบบไว้แล้วด้วย

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ยังยืนยันว่า นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะจ่ายในงวดเดียว สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุนทั่วประเทศ

ในเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาท เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทางแบงก์ชาติ โดยนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุว่า ยังเร็วไปที่จะประเมินเพราะยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ลักษณะใด เป็นเรื่องที่มองไปข้างหน้า ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนมา เราก็เตรียมการว่าเม็ดเงินจะลงสู่เศรษฐกิจเท่าไหร่ จริงๆ ต้องดูที่ภาพใหญ่ แต่ถ้าเราดูแค่เฉพาะเม็ดเงินนโยบายเงินดิจิทัล ถ้าดูจากตัวเลขเบื้องต้น ประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท คิดเป็น ประมาณ 3% ของ GDP

ฉะนั้นในแง่ผลดีของเศรษฐกิจ ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเราว่าเงินจะหมุนกี่รอบ ถ้าหมุนหนึ่งรอบก็คือ 3% ของ GDP (หมายถึงถ้ามีการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ทั้งก้อน เงินในระบบก็จะเพิ่ม 3% ของ GDP) แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเงินโอนก็จะหมุนน้อยกว่านั้น อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่ง แน่นอนว่าจะกระทบกับประมาณการในแง่ของ GDP และเงินเฟ้อ แต่ต้องเรียนว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ยังไม่ได้ใส่เข้าไปใน Baseline ยังอยู่ในแง่ของความเสี่ยงอยู่

ความคืบหน้าล่าสุดจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ระบุรูปแบบการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทออกมาแล้วว่า ไม่ใช่เงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC แบบที่แบงก์ชาติกำลังศึกษาและทดลองอยู่ในเวลานี้ แต่จะเป็นดิจิทัลโทเคน เป็นประเภท ยูทิลิตี้ โทเคน ซึ่งถูกสร้างด้วยระบบบล็อกเชน

สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) หรือยูทิลิตี้ โทเคน เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือแลกสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น ให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ หรือ นำไปใช้แลกสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการดังกล่าว โดยหากสินค้าหรือบริการนั้นพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก (utility token พร้อมใช้) จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจาก ก.ล.ต.

ในกรณีนี้ ดิจิทัลโทเคน ตามนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เป็นลักษณะเข้าข่าย ยูทิลิตี้ โทเคน (Utility Token) ซึ่งเป็นเหรียญโทเคนที่เอาไว้ใช้แลกกับสินค้า บริการ หรือใช้งานในระบบนั้นๆ จะได้รับยกเว้นการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่โทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

หากรัฐบาล ครม.เศรษฐา 1 จะนำยูทิลิตี้ โทเคน มาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องจับตาว่าอาจเข้าข่ายเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการหรือไม่ ซึ่งจะผิดกฎเกณฑ์ของทางแบงก์ชาติทันที!