เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศชัน ผบก.ป. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ผอ.กลุ่มงานโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ร่วมแถลงผลการจับกุมแก๊งนักล่าสมบัติโบราณโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก หลังนำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 9 จุด ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย และลำปาง จับกุม นายทศพร อายุ 26 ปี นายทศพล อายุ 19 ปี สองพี่น้อง และนายศรีออน อายุ 46 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “เบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นไปเป็นของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และจำหน่าย เอาไปเสีย ซึ่งโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ โดยผิดกฎหมาย” พร้อมของกลางเครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่อง อุปกรณ์การขุดโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวน 970 ชิ้น สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม

ผบช.ก. กล่าวว่า ตำรวจ กก.4 บก.ป. ได้เบาะแสจากกลุ่มผู้อนุรักษ์โบราณวัตถุว่า มีกลุ่มบุคคลลักลอบขุด ค้า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นำมาโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก โดยได้โชว์ภาพถ่ายและวิดีโอขณะค้นหาวัตถุโบราณตามสถานที่ต่างๆ ไว้ด้วย ซึ่งภายหลังการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่พบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าว มีนายทศพร และนายทศพล สองพี่น้องคนโพธาราม จ.ราชบุรี เป็นผู้ดูแล รวมทั้งเป็นบุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพและวิดีโอขณะค้นหาวัตถุโบราณตามสถานที่ต่างๆ ร่วมกับนายศรีออนด้วย จึงได้รวบรวมหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับบุคคลทั้งสามในข้อหา “เป็นผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งโดยพฤติการณ์ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้และเบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย และจำหน่าย เอาไปเสีย ซึ่งโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ โดยผิดกฎหมาย”

พร้อมเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เชื่อว่าน่าจะมีการซุกช่อนโบราณวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร 9 จุด ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, ลำปาง, พะเยา และสุโขทัย พบของกลางดังกล่าวทั้งหมด และสามารถติดตามจับกุมนายทศพรกับนายทศพล ได้ในพื้นที่ ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ส่วนนายศรีออน จับกุมได้ใน ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา โดยสองพี่น้องให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่นายศรีออน ยังให้การปฏิเสธ แต่จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารของทั้งสาม ผู้ต้องหามีความเชื่อมโยงกัน และพบมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 2 แสนบาท และมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้านบาท ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

นายพนมบุตร กล่าวว่า สำหรับวัตถุของกลางที่ยึดได้ มีสองชิ้นที่เป็นรูปปั้นวัว-ช้างสัมฤทธิ์ อายุมากถึง 1,600 ปี ซึ่งบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางการค้าตั้งแต่โบราณ หากสิ่งของเหล่านี้หลุดรอด หรือสูญหายไปจากประเทศ ก็จะทำให้ต้องสูญเสียหลักฐานสำคัญของชาติ ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อีกด้วย ส่วนกรณีที่พบเจอสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ขอให้ท่านนำส่งกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ไม่ควรยึดถือไว้เป็นของตน เนื่องจากตาม มาตรา 24 ระบุว่า โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ช่อน หรือฝัง หรือทอดทิ้งไว้ในราชอาณาจักร ให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และสำหรับผู้ใดที่ลักลอบขุด ค้นหา โบราณวัตถุตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำไปประกาศขาย รวมไปถึงผู้รับซื้อโบราณวัตถุต่างๆ จะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด มีโทษตามกฎหมาย