เมื่อวันที่ 7 ก.ย. น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณี สภา กทม. เห็นชอบตัดงบประมาณโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น จากข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2567 วานนี้ ว่า สภากรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเรื่องของการศึกษาตลอดมา ทั้งเรื่องการเพิ่มศักยภาพการดูแลสวัสดิการครูผู้สอน การเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน รวมถึงการปรับปรุงกายภาพห้องเรียนและโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนโรงเรียน กทม. ได้มีโอกาสในการศึกษาเท่าเทียมกับโรงเรียนสังกัดอื่น

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณ กทม. ปี 67 เห็นด้วยกับโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต รวม 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง รวมงบประมาณ 219,339,000 บาท ของสำนักการศึกษา แต่ยังมีกรรมการหลายท่านได้ขอสงวนความเห็น เนื่องจากเห็นด้วยกับโครงการ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ประกอบกับโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นเดิม นำร่อง 32 แห่ง ที่ กทม. ดำเนินการอยู่ ไม่มีการขยายผลต่อยอดแต่อย่างใด

รวมถึงในขั้นตอนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หน่วยงานผู้ขอรับงบประมาณไม่ได้มีการแสดงเอกสาร ความชัดเจนของที่มาการของบประมาณ กรรมการวิสามัญฯ จึงได้ขอสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายในการประชุมสภา กทม. และให้ที่ประชุมได้วินิจฉัยว่าจะพิจารณาเห็นชอบให้ตัดหรือคงอยู่ โดยเหตุผลหลักที่กรรมการวิสามัญได้อภิปรายในที่ประชุมสภา กทม. ประกอบด้วย

  1. เอกสารโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นของทุกกลุ่มเขตที่หน่วยงานนำมาแสดงมีรายละเอียดเหมือนกันหมด คือ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง ในขณะที่สภาพห้องเรียนทุกแห่งมีขนาดที่แตกต่างกัน บางห้องเรียนมีขนาดเพียง 20 ตร.ม. และบางเขตมีจำนวนห้องเรียนอนุบาลไม่มาก และได้จัดให้เด็กอนุบาลได้เรียนรวมกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ BTU ที่สูงและต้องติดตั้งให้ครบทุกห้อง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น
  2. การติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำเป็นต้องมีงบประมาณค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าล้างทำความสะอาด แต่พบว่าไม่ได้มีการของบประมาณในส่วนอื่นให้สอดคล้องกัน ทำให้เห็นว่าไม่มีการวางแผน เพียงแต่ต้องการใช้งบประมาณเท่านั้น
  3. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต้องทำให้ถูกจุด ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มอาจไม่สอดคล้องกับนโยบายลดภาวะโลกร้อนของผู้บริหาร

“…การเขียนโครงการเหมารวมในรูปแบบเดียวกันทุกกลุ่มเขต การตั้งราคาเครื่องปรับอากาศที่สูงเกินบริบทของห้องเรียน การกำหนดงบประมาณจากเบื้องบนเพื่อให้เบื้องล่างนำไปปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งาน จึงเหมือนการตีเช็คเปล่าที่ไม่ได้เจาะจงการใช้เงินให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศโดยไม่ได้จัดหาเครื่องฟอกอากาศเพิ่ม อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันฝุ่น ซึ่งมีจำนวนสูงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ และเรื่องความปลอดภัยของเด็กไม่ได้มีแค่เรื่องฝุ่น แต่เรื่องของกล้องวงจรปิด ห้องน้ำที่เพียงพอและถูกสุขลักษณะ การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน…” โฆษกสภา กทม. กล่าว

สำหรับรายการโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบตัดออก ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง จำนวน 41 โรงเรียน 140 ห้อง จำนวน 17,646,000 บาท 2.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 129 โรงเรียน 561 ห้อง จำนวน 70,584,000 บาท 3.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 45 โรงเรียน 244 ห้อง จำนวน 30,748,000 บาท 4.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ จำนวน 55 โรงเรียน 192 ห้อง จำนวน 24,202,000 บาท 5.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 89 โรงเรียน 247 ห้อง จำนวน 31,033,000 บาท 6.โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 70 โรงเรียน 359 ห้อง จำนวน 45,126,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในประเด็นเรื่องการตัดงบประมาณโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นของสำนักการศึกษาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลุกขึ้นกล่าวชี้แจงถึงเหตุผลในการดำเนินโครงการนี้ว่า หลักการและเหตุผลเรื่องนี้อยู่ในนโยบาย หมายเลข 048 จัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเปราะบางก็จะมีเด็กอายุ 1-6 ขวบ เป็นช่วงที่พัฒนาสมองเร็วที่สุด จุดสำคัญที่จะสร้างคุณค่าทรัพยากรในอนาคต ถ้าการพัฒนาไม่เต็มที่ ก็จะทำให้พัฒนาได้ช้าลง โดยเฉพาะเด็กกลุ่มนี้ มีปัญหาคือไม่ชอบใส่หน้ากากป้องกัน จะทำให้ลำบากมากขึ้น และเด็กกลุ่มนี้ต้องนอนกลางวัน ถ้าโชคดีมีห้องแอร์ให้เด็กนอนกลางวัน เด็กก็จะได้นอนหลับสนิท และมีห้องที่ปิดล้อม แนวคิดที่ทำห้องปลอดฝุ่น ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนมาก เน้นเด็กกลุ่มเปราะบาง

“..หลายครั้งที่ไปที่โรงเรียน ได้เห็นเด็ก ๆ อยู่ที่ห้องร้อน ๆ มีฝุ่น ก็ไม่มีหน้ากากป้องกัน แล้วทำไมห้องผู้ว่าฯ ถึงมีแอร์ แต่เด็กที่เป็นอนาคตสำคัญของชาติ ทำไมไม่มีแอร์ให้เด็กสบาย ๆ ขนาดเราเป็นผู้ว่าฯ เวลาเจอฝุ่น เราก็มาในห้องเปิดแอร์ไล่ฝุ่น สะดวกสะบาย แล้วทำไมเด็กไม่ได้รับเหมือนกัน..” นายชัชชาติ กล่าวและเผยด้วยว่า

เรื่องงบประมาณ เรื่องการลงทุน ถ้าลงทุนกับเด็กคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพิ่มทั้งเรื่องสมาธิ และหลาย ๆ ด้าน ส่วนเรื่องค่าไฟก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผน ซึ่งในอนาคตต้องมีการติดแผงโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนมากขึ้น เป็นนโยบายที่เราต้องมาดูพื้นที่ต่าง ๆ ในหน่วยราชการ ที่จะต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กรวยหรือเด็กจน ก็ต้องได้รับโอกาสที่ได้เรียนที่ห้องเรียนสภาพแวดล้อมตอบโจทย์ต่อตัวเด็ก ๆ เอง.