กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรักษาตัว จากการเจ็บป่วย 4 โรคประจำตัว ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พังผืดในปอด ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อม ณ อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 ห้อง 1401 รพ.ตำรวจ เป็นวันที่ 17 เป็นไปตามกฎกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

มีใครบ้าง? เปิดรายชื่อ 10 ผู้เข้าเยี่ยม ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ ว่า สำหรับการเข้าเยี่ยมพูดคุยกับนายทักษิณล่าสุด ตนได้เข้าไปเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่วนทางญาติที่มีการระบุไว้ใน 10 รายชื่อนั้น ตนไม่ทราบเช่นกันว่า ได้มีสมาชิกท่านใดเดินทางเข้าเยี่ยมนายทักษิณแล้วหรือไม่ อีกทั้งในการพูดคุยกับนายทักษิณ เจ้าตัวยังไม่ได้ฝากหรือกำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นการหารือกันเกี่ยวกับคดีความคงค้างที่เหลือ

เมื่อถามว่าทุกครั้งที่ทนายเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ได้มีการพูดคุยบ้างหรือไม่ว่าหากได้รับการพักการลงโทษ เจ้าตัวอยากจะใช้ศักยภาพหรือประสบการณ์ในการช่วยเหลืองานบ้านเมืองหลังจากนี้ ทนายวิญญัติ ระบุว่า ยอมรับว่านายทักษิณอาจจะไม่ได้พูดคุยกับตนโดยตรง แต่ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ พบว่าเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งก่อนเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยในลักษณะทำนองนี้ อาทิ อยากช่วยบ้านเมือง อยากทำเพื่อประเทศชาติเพื่อประชาชน เป็นต้น เพราะถือว่าเป็นความตั้งใจดีของนายทักษิณเอง และก็คงไม่ตอบรับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เพราะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวอาจจะมีการพูดคุยประเด็นดังกล่าวกับทางญาติและครอบครัวมากกว่า

ต่อข้อถามว่าได้มีการพูดคุยกับทางราชทัณฑ์ และแพทย์ผู้ทำการรักษาของ รพ.ตำรวจ หรือไม่ว่า หากใกล้ครบกรอบกำหนด 30 วัน สำหรับการนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำฯ ขณะนี้นายทักษิณมีอาการเจ็บป่วยอย่างไร ต้องนอนรักษาตัวต่อเนื่องไปก่อนหรือไม่ เพราะตามเกณฑ์แล้ว เมื่อใกล้วัน ราชทัณฑ์จะต้องมีการประชุมหารือกับทีมแพทย์เพื่อมีความเห็นร่วมกันนั้น ทนายวิญญัติ ระบุว่า ต้องเรียนตามตรงว่า ขณะนี้นายทักษิณไม่เพียงแต่ประสบปัญหาเรื่องอาการอ่อนเพลียเท่านั้น แต่ประสบกับอาการป่วยที่จะต้องได้รับการรักษาเนื่องด้วยโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิที่จะต้องได้รับการรักษาพยาบาล และราชทัณฑ์ก็จะต้องนำเอาความเห็นของแพทย์ รพ.ตำรวจ ที่ได้มีการตรวจประเมินความเจ็บป่วยในแต่ละวันมาพิจารณา และหากราชทัณฑ์เล็งเห็นว่าควรแก่การรักษาตัวต่อไป ก็คงจะต้องมีการอนุญาตให้ทำการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ต่อไปก่อน อย่างไรก็ต้องยึดความเห็นของแพทย์เป็นสำคัญ และเนื่องด้วยในตอนนี้ยังไม่ครบกรอบ 30 วัน ตนจึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางราชทัณฑ์ในประเด็นนี้

ส่วนเรื่องโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปนั้น ทนายวิญญัติ ระบุว่า ทราบว่าเป็นโครงการที่กรมราชทัณฑ์มีอยู่แล้ว ซึ่งก็คงเป็นหน้าที่ของเรือนจำ/ทัณฑสถานที่จะดำเนินการต่างๆ ตามระเบียบขั้นตอน ดังนั้น หากทางราชทัณฑ์มีการสำรวจผู้ต้องขังเด็ดขาดภายในเรือนจำฯ แล้วนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณา ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนของราชทัณฑ์ และหลังจากนั้นตนก็จะดำเนินการเตรียมเอกสารจำเป็นต้องใช้ เพื่อยื่นใช้สิทธิต่อไป รวมถึงขอยืนยันว่าโครงการต่างๆ ที่ราชทัณฑ์มี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังเด็ดขาดทุกรายที่เข้าเกณฑ์และผ่านการพิจารณา

ทนายวิญญัติ ระบุด้วยว่า แม้ว่าขณะนี้นายทักษิณ จะยังอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวจากการเจ็บป่วย แต่ตนก็ยังไม่พบความน่ากังวลใดๆ เพียงแต่ระหว่างนี้ต้องทำหน้าที่ทนายความที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อย่างการเตรียมเอกสารเกี่ยวกับคดีความคงค้างอื่นๆ เช่น คดีความในส่วนของ ป.ป.ช. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสอบถามไปทางกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นการรักษาตัวนอกเรือนจำ ที่ รพ.ตำรวจ ของอดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยกรอบระยะเวลา 30 วัน ว่ามีการพูดคุยประสานกับแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งก็ยังไม่สามารถติดต่อทั้งคู่ได้ ทราบเพียบรายงานจาก ดร.วริสรา ศิริสุทธิเดชา เลขานุการกรมราชทัณฑ์ ว่าอธิบดีอยู่ระหว่างการลาพักผ่อน และเมื่อติดต่อไปยัง น.ส.จุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจ้งกลับเพียงแค่ว่า ไม่สะดวกในการให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด.