เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายชูศักดิ์ นันทิธัญญธาดา ปลัดอาวุโสอำเภอสัตหีบ พร้อมด้วย นายสุนทร พุ่มโพธิ์ทอง กำนันตำบลแสมสาร นายณัฐพงศ์ พิทักษ์กรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลแสมสาร นางสาวอุรุอาริยา บุญนำมา ประมงอำเภอสัตหีบ นายมงกรด อุ่นเรือน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส และเจ้าหน้าที่ ร่วมลงตรวจสอบพื้นที่ พร้อมตั้งข้อกล่าวหา หลังเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 ได้รับเรื่องร้องเรียนบุกรุกก่อสร้างเขื่อนหิน ถมหาดทราย เพื่อสร้างแลมป์ขึ้น-ลงเรือ รุกทะเลพื้นที่สาธารณะ บริเวณชายทะเล ด้านหลังรีสอร์ท หมู่ 1 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ปกครองบุกจับ ‘ผู้ใหญ่บ้าน’ คุมก่อสร้างถมหาดทราย รุกชายทะเลแสมสาร-ชลบุรี

นายมงกรด อุ่นเรือน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส เปิดเผยว่า จากการใช้เครื่องอ่านพิกัดตำแหน่งด้วยดาวเทียม (G.P.S.) วัดพิกัดรอบแปลงได้จำนวน 6 จุด คิดเป็นเนื้อที่บุกรุก 7-1-01 ไร่ อยู่บริเวณพิกัด 713450 E 1396450 N (WGS84) เป็นที่ชายทะเล มีการสร้างเขื่อนคอนกรีต ขนาดความกว้าง 1 เมตร ความยาว 79.50 เมตร อยู่ด้านตะวันออกของพื้นที่ และลานคอนกรีตความกว้าง 5.10 เมตร ความยาว 103.50 เมตร อยู่ด้านตะวันตกของพื้นที่ คิดเป็นเนื้อที่ 527.85 เมตร ภายในพื้นที่มีร่องรอยการขุด และนำทรายมากองไว้ บางจุดนำหินก่อสร้างจากข้างนอกมาเตรียมไว้เพื่อก่อสร้าง ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าว ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็น “ป่า” และบริเวณดังกล่าว ไม่มีการอนุญาตให้บุคคลกระทำการใดๆ จากพนักงานเจ้าหน้าที่

ดังนั้น การกระทำดังกล่าว จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 62 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกการตรวจยึด พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสัตหีบ เพื่อดำเนินคดีกับ นายนฤดล พิสิษฐเกษม เจ้าของรีสอร์ท และนายอภิชาติ อร่ามรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.แสมสาร ในความผิด 4 ข้อกล่าวหา คือ
1.พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ฐาน ร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
2.ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ฐาน ร่วมกันยึดถือหรือครอบครอง ก่อสร้าง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นการทำลาย หรือเสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด ที่ทราย ในบริเวณที่ดินซึ่งรัฐมนตรีประกาศหวงห้ามหรือผู้ที่กระทำการใดๆ อันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน หรือกระทำแก่ที่ดินของรัฐ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
3.พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 62 ฐานร่วมกันทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
4.พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ฐาน ร่วมกันกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายไปนั้น.