เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ภายหลัง “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เนื่องจากพรรคชนะเสียงการเลือกตั้งอันดับ 1 แต่ต้องมาเป็น “ฝ่ายค้าน” และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ “ผู้นำฝ่ายค้าน” จำเป็นต้องเป็น สส. ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านอันดับ 1

ซึ่งปัจจุบันนายพิธา ยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในระยะเวลาอันใกล้ นั้น

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงอยากพาทุกท่านมาย้อนเส้นทางบนสายการเมืองของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โดยจุดเริ่มต้น นายพิธาก้าวเข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็น “ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง” ต่อมานายพิธา สมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ด้วยการเชื้อเชิญของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค และเมื่อ พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคในลำดับที่ 4 และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งแรกที่ลงรับเลือกตั้ง โดยนายพิธา ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่

และเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 พิธาอภิปรายครั้งแรกในสภา ประเด็นนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะ “ปัญหากระดุม 5 เม็ด” ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายพิธาเสนอการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร ด้วยการติดกระดุม 5 เม็ด ได้แก่ ที่ดิน, หนี้สินการเกษตร, สารเคมีและการประกันราคาพืชผล, การแปรรูปและนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จากการอภิปรายดังกล่าวของเขา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชื่นชมการอภิปรายของนายพิธา แม้จะสังกัดคนละพรรคกัน

undefined

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 8 มีนาคม นายพิธาย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล ร่วมกับอดีตสมาชิกพรรคอีก 54 คน โดยนายพิธา ได้ดำรงตำแหน่งเป็น “หัวหน้าพรรคก้าวไกล”

หลังจากนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นายพิธาได้ลงพื้นที่หาเสียงทั่วประเทศร่วมกับสมาชิก สส. ของแต่ละจังหวัด ซึ่งสิ่งคุ้นตาที่หลายคนมักจะเห็นเวลาหาเสียงนั่นก็คือ การขึ้นรถแห่ไปสถานที่ต่างๆ จนหลายคนให้ฉายาว่า “นายกฯ รถแห่” อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 พฤษภาคม หลังการประกาศผลการเลือกตั้ง นายพิธาประกาศว่าเขาพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และเชิญพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยพรรคการเมืองฝ่ายค้านในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมด ที่ได้รับการเลือกตั้ง พร้อมด้วยพรรคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง จัดตั้งรัฐบาลผสม

ในวันที่ 18 พฤษภาคม นายพิธาพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาชาติ แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเขา โดยทุกพรรคพร้อมสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้ตั้งรัฐบาลในการเมืองไทย พรรคร่วมรัฐบาลของนายพิธา จัดงานแถลงข่าวอีกครั้งเพื่อเปิดบันทึกความเข้าใจแก่สาธารณชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ได้รับคำร้องของ กกต. ขอให้พิจารณากรณีนายพิธาและพรรคก้าวไกล เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เป็นความพยายามในการ “ล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” กกต. ระบุว่า นายพิธาขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกรัฐสภา ขณะที่นายพิธา กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการของ กกต. นั้นไม่ยุติธรรม และตัวเขาเองไม่ได้รับโอกาสในการชี้แจงก่อนจะยื่นคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งวันก่อนการพิจารณาในรัฐสภา นายพิธาเตือนสมาชิกรัฐสภาว่า “มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูง” หากเขาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม รัฐสภาเรียกประชุมพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณี “นายพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวีอย่างเป็นเอกฉันท์” และยังมีมติ 7 ต่อ 2 สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น แต่การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของเขา ไม่ได้ทำให้ไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ระหว่างการประชุมรัฐสภา นายพิธากล่าวรับทราบคำวินิจฉัยและออกจากโถงประชุม ในการอภิปรายต่อมา รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบให้เสนอชื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกครั้งในรอบถัดไป สมาชิกรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายพิธา แต่ถูกโต้แย้งว่าขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ห้ามไม่ให้เสนอญัตติซ้ำ ในการลงคะแนนให้สามารถเสนอชื่อบุคคลซ้ำได้อีก มีผู้ให้ความเห็นชอบ 312 คน ไม่เห็นชอบ 394 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวุฒิสมาชิก และงดออกเสียง 8 คน โดยที่นายพิธา ไม่ได้ลงคะแนนเสียง

จากผลการลงคะแนนดังกล่าวในรัฐสภา นายพิธาไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก จนกว่าจะถึงสมัยประชุมใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป แม้นายพิธายังคงถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาส่งสัญญาณเป็นนัยสนับสนุนบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดต) จากพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทย ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของนายพิธา หลังพรรคก้าวไกลปฏิเสธที่จะล้มเลิกความพยายามแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในช่วงหาเสียง

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย “นายเศรษฐา ทวีสิน” ชนะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง โดยความเห็นชอบของรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ที่อยู่ในที่ประชุมทุกคน (149 คน) ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 106 ระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก ของพรรคก้าวไกล ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1

ทำให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านนี้ จะเป็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน และแม้นายปดิพัทธ์จะลาออก นายพิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน นายพิธาจึงประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลดำเนินการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการลาออกจากหัวหน้าพรรคของนายพิธา ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 24 กันยายน..