เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกและกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงมุมมองการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ว่า ส่วนตัวมองว่า หากให้ประเมินล่วงหน้าขณะนี้ ความแม่นยำจะน้อย ต้องดูช่วงใกล้ๆ หรือโค้งสุดท้ายของเลือกตั้งว่า แต่ละพรรคจะมีอาวุธลับอะไรออกมา แต่หากถามเป้าหมายของพรรค พปชร. พยายามจะรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมที่เคยทำไว้ในปี 62 ที่ได้กว่า 7.9 แสนเสียง และหากเพิ่มได้ คาดหวังจะไปสู่ระดับ 1 ล้านเสียง

“ในปี 62 เราได้ ส.ส.กทม. มา 12 ที่นั่ง เราก็พยายามรักษาไว้ แต่ยอมรับว่าเมื่อมีการแตกเป็น 2 พรรคไปแล้ว และยังมีผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นอื่นๆ อีก การแข่งขันสูงขึ้นกว่าเดิม ในปี 66 เราถึงต้องพยายามคัดผู้สมัคร ส.ส. ไปลงพื้นที่แบบเข้มข้น ส่วนตัวมองว่า อะไรก็เป็นไปได้หมด คน กทม. มีลักษณะเป็นคนเปิดกว้าง พร้อมเปิดโอกาสให้กับพรรค และคนที่เสนอตัวทำงาน การกาบัตรให้ไม่ได้ขึ้นอยู่นโยบายเพียงอย่างเดียว แต่เขาเลือกที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แล้วเลือกพรรคว่า มีจุดยืนอย่างไร ตรงกับที่เขารู้สึกว่า อยากให้ประเทศเดินไปแบบไหนในช่วงนั้นด้วย ประเมินวันนี้เลยตอบยาก ต้องดูช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง”

นางนฤมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดยืนทางการเมือง พรรค พปชร. ได้ย้ำเสมอในหลายเวทีว่า ไม่ทะเลาะกับใครแน่ๆ ให้มันจบในสภาและไม่มีทางที่จะร่วมมือกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่เห็นด้วยที่จะก่อรัฐประหารอีกครั้ง หาก พปชร. ไม่สามารถรวบรวมเสียงสภาล่างได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็จะไม่ฝืน แต่พรรคก็ยังคงเดินหน้าต่อไปผ่านคนรุ่นต่อๆ ไป ที่จะมารับช่วงต่อในการเป็นสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้ นโยบายของ พปชร. ที่ชูแคมเปญก้าวข้าวความขัดแย้งนั้น หากมองย้อนไปเป็นจุดยืนเดิมตั้งแต่ปี 62 แล้ว เพียงแต่ตอนนั้น ช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้าย หาเสียงได้เกิดแคมเปญ “ความสงบ จบที่ลุงตู่” ซึ่งวันนี้ยังไม่เปลี่ยนจุดยืน คือไม่ทะเลาะกับใครและไม่อยากให้ประชาชนลงถนนมาทะเลาะกันเอง อยากให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง ที่เดินหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่ให้ความเห็นต่างทั้งหลายจบในสภา

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าแคมเปญนี้พอไหม ยอมรับว่าไม่เพียงพอ เพราะประชาชนคนไทยย่อมต้องการนโยบายที่ไปตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ความต้องการในรายละเอียดก็ต่างกันออกไป จึงเป็นสิ่งที่ พปชร. ได้เปิดเวทีต่างๆ ที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงในการนำมาสู่การวางนโยบายที่จะเข้าถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้มากสุด ดังนั้นผู้สมัครของ กทม. จึงนำเสนอสิ่งที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก่อนเลย คือความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เพราะพบว่ามีคนกรุงจำนวนมาก ที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมองรูปแบบอาจเป็นภาครัฐร่วมเอกชน (PPP) พื้นที่อาจเป็นของรัฐ แต่ให้เอกชนมาร่วมบริหารจัดการ ให้ธนาคารรัฐมาสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เขามีบ้านเป็นของตนเองในที่สุด เพราะเมื่อมีความมั่นคงในชีวิต คุณภาพอื่นๆ จะตามมา เป็นต้น

“ผู้สมัคร ส.ส. ที่คุยกันคือ ไม่อยากเห็นการนำเสนอนโยบายมาบลัฟกัน แล้วกลายเป็นภาระของคนไทยทั้งหมด การแจกเงินหรือประชานิยมจะทำให้ระยะยาวชาวบ้านเคยตัว และจะไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย จะเห็นว่า พปชร. นโยบายไม่ได้มีเม็ดเงินที่จะให้อย่างเดียว เรามองครบทุกมิติแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น กรณีผู้พิการเขาไม่ได้อยากได้เงินอย่างเดียวนะ เขาอยากมีศักดิ์ศรี อยากมีงานทำ แก้ปัญหาต้นเหตุ คือให้เขามีงานทำวิชาชีพไหนที่จะรับเขาได้โดยใช้ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) เข้าไปดำเนินการให้เขามีงานทำ ไม่ใช่มาพึ่งเบี้ยยังชีพผู้พิการอย่างเดียว นโยบายที่ดีต้องคำนึงถึงความยั่งยืน และคิดคำนึงถึงภาระการคลัง หรือภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายในอนาคต” นางนฤมล กล่าว