วันที่ 19 ก.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุถึงกระแสข่าวลือว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะปลดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกจากตำแหน่ง เพราะขัดนโยบายทำงานร่วมกันไม่ได้นั้น

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

“อดีต รมว.คลัง” ระบุว่า ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ง่าย มีคนส่งรูปไปตามโซเชียลมีเดีย อ้างว่ารัฐมนตรีคลังจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะขัดนโยบาย ทำงานร่วมกันไม่ได้อย่างแรง ผมไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริงได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้อมูลความรู้ไว้ดังนี้

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า “แบงก์ชาติ” กล่าวถึงหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า

“ต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบในการทำนโยบายดังกล่าวก่อน ซึ่งถ้าออกมาเป็น Digital Asset ทาง แบงก์ชาติ ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุน เพราะจะกลายเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อต่อเสถียรภาพ แต่หากเป็น e-money ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่างๆ ควรเป็นรูปแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการเงิน 1 หมื่นบาท”

ผมขอแนะนำท่านนายกฯ เศรษฐา ว่า ควรรับฟังความเห็นของผู้ว่า “แบงก์ชาติ” ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเชิงวิชาการ ไม่มีอคติทางการเมืองแอบแฝง

ส่วนแนวคิด ถ้าหากสมมุติจะมีรัฐมนตรีคลังรายใดต้องการจะปลดผู้ว่า “แบงก์ชาติ” นั้น ควรทราบว่ามีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้ พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/19 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 28/18 แล้ว ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 28/17

(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น ตาม (4) รัฐมนตรีคลังจะต้องพิสูจน์ให้คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ว่า “แบงก์ชาติ” มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่สามารถรวมถึงความเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบาย

ส่วนตาม (5) ก็ต้องผ่านด่านคณะกรรมการ ธปท. เสียก่อน เฉพาะกรณีบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง ซึ่งยิ่งเป็นไปไม่ได้

“แต่ยิ่งหนักกว่านั้น ก็คือกระแสสังคมที่จะประณามรัฐมนตรีคลังผู้นั้น จะเข้าข่ายเป็นการลุแก่อำนาจ abuse of power และจะกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของสังคมโลกอย่างรุนแรง”

จึงขอให้ผู้ว่าฯ “แบงก์ชาติ” สบายใจได้ และขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่

( ที่มา : เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ณ 19 ก.ย.66 )