เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ว่า จากการเดินทาง 4 วัน ต้องขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้ดำเนินภารกิจจำนวนมาก ได้ร่วมประชุมพบปะกับผู้นำหลายประเทศ กล่าวสุนทรพจน์ 5 ครั้ง และพบองค์กรต่าง ๆ อีก 2 องค์กร บริษัทใหญ่ระดับโลก อาทิ เทสลา กูเกิล ไมโครซอฟท์ ซิตี้แบงค์ เจพี มอร์แกน เอสเต้ ลอเดอร์ เป็นต้น โดยทั่วไปบริษัทเหล่านี้มีความสนใจที่จะมาลงทุน หรือลงทุนแล้วตามรูปแบบต่าง ๆ หน้าที่ของตนคือไปประกาศอีกหนหนึ่งว่าประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมและยินดีที่จะให้บริษัทเหล่านี้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 

นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้พบกับ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าบริษัทดี ๆ หลายแห่งในไทยไม่เคยไปจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเลย ซึ่งตอนนี้ได้เห็นลู่ทางแล้ว หวังว่าปีนี้จะมีสักบริษัทได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขณะที่สหประชาชาติแสดงความเป็นห่วงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีความขัดแย้งแตกแยก และประเด็นสำคัญคือ เรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ซึ่งทุกประเทศให้ความสำคัญ ทั้ง 190 กว่าประเทศมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งไปสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งเวลานี้กลายเป็นภาวะโลกเดือดแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเทศใกล้เคียงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ลี้ภัยสงครามที่อพยพมา

“หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ผมไป คือประกาศจุดยืนว่าเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะยึดมั่น ผลักดัน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ”นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่าทั้งนี้ยังได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงผ่านปรัชญาอารยเกษตร สะท้อนผ่านนโยบายที่อำนายความสะดวกประชาชนให้เลือกเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐบาลได้อย่างสมเกียรติ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า  สำหรับภารกิจเดินทางไปต่างประเทศครั้งต่อไป คือการร่วมประชุมเอเปก (APEC)  ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นัดหมายกับหลายบริษัท รวมถึงเชื้อเชิญบริษัทในไทยที่ประสงค์จะเปิดประตูทางการค้าด้วย โดยคณะผู้แทนรัฐบาลไทยจะเดินทางล่วงหน้าไปก่อน 2 วัน เพื่อเปิดให้นักธุรกิจไทยไปพบปะกับบริษัทใหญ่ ๆ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้นอกจากบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ตนได้ไปพบปะแล้ว ยังมีบริษัทด้านการเงินที่มีความสำคัญ เพราะบริษัทต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในไทยก็ต้องการแรงสนับสนุนในด้านการเงิน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นักลงทุนต่างประเทศ แทบไม่มีความกังวลการกลับมาสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่มองไปที่ความสะดวกในการมาทำธุรกิจมากกว่า ซึ่งทางเราก็พร้อมมาก สำหรับการเข้ามาลงทุน และรับฟังความคิดเห็น ส่วนใดที่ต้องแก้ไขในเรื่องข้อกฎหมายหรือระเบียบ ก็จะมาดูความเหมาะสม 

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากจะประมาณมูลค่าของตัวเลขที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทยเป็นเรื่องยาก แต่หากยกตัวอย่างในภาคส่วนอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี เช่น เทสลา หรือ กูเกิล คาดว่ามูลค่าเบื้องต้น 5,000เหรียญสหรัฐ หรือ 1.7 แสนล้านบาท ส่วนบริษัทด้านการเงิน เชื่อว่าจะทำให้มีการลงทุนที่สูงขึ้นอีกมาก เพราะมีโอกาสนำตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต หรือความน่าอยู่ของประเทศไทย ไปเชื้อเชิญบริษัทอื่น ๆ ให้เข้ามาอีกเยอะ โดยในการเดินทางไปประชุมเอเปกครั้งถัดไป ได้หารือกับเลขาฯ บีโอไอ ว่าอาจเชิญบริษัทที่มีขนาดกลางไปเสนอตัวกับต่างชาติ เพื่อให้เกิดการลงทุนระหว่างกันทั้งสองฝ่าย เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้พบปะกับผู้แทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)  เพื่อพูดคุยถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่จะมาเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ ฟีฟ่า เวิร์ลคัพ ปี 2032 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแผนการที่ไม่ง่าย  อย่างไรก็ตาม ไทยต้องการความสนับสนุนจากฟีฟ่าในเรื่องของฟุตบอลรากหญ้า จากเดิมที่เคยสนับสนุนไทยปีละ 2.5 แสนเหรียญ เป็น 2 ล้านเหรียญ พร้อมกันนี้ยังคาดหวังให้พัฒนาเด็ก และเยาวชนให้ถึงจุดที่ควรจะเป็น