เมื่อวันที่ 28 ก.ย. จากกรณีที่กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ทำการสอบสวนคดีพิเศษที่ 9/2563 กรณี น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือ แม่มณี กับพวกรวม 31 ราย ได้ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการโฆษณาในสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ชื่อ “มณีรัตน์ สุรางค์มธุรสธรรมสว่างกุล”, “Nadear Wanthanee”, “มั่งมี ศรีสุข บารมี เพิ่มพูน” และ “ฝากยอดต่ออนาคต” โดยการโพสต์ข้อความและถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊กว่ารับฝากเงิน ออมเงิน วงละ 1,000 บาท ตกลงจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 93 ต่อเดือนของเงินลงทุน ระยะเวลาฝาก 1 เดือน จ่ายคืนทั้งต้นและดอก โดยมีรูปแบบการลงทุน คือ ชักชวนให้นำเงินมาออมไว้กับแม่มณี เสนอให้ผลตอบแทน 93 เปอร์เซ็นต์ เมื่อครบกำหนด 1 เดือน

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศให้ลงทุนและให้ผลตอบแทนอีกหลายอัตรา ซึ่งคิดผลตอบแทนที่เสนอให้เป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 1,116 บาท จนถึง 3,040.45 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งทั้งหมดกระทำไปเพื่อจูงใจให้ประชาชนเกิดความสนใจและมีความมั่นใจในการนำเงินมาร่วมลงทุนกับพวกตนเอง โดยกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้นำเงินที่ลงทุนไปใช้ในการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะนำรายได้ตามที่ได้ประกาศไปนำมาจ่ายให้กับผู้ลงทุนได้ แต่ทำไปเพื่อนำเงินของผู้หลงเชื่อลงทุนรายใหม่ๆ และรายเก่าๆ ที่ลงทุนซ้ำมาหมุนเวียนจ่ายให้กับผู้ลงทุนรายก่อนๆ หรือผู้ลงทุนรายปัจจุบันที่ครบกำหนดรับเงินปันผลและเงินลงทุนคืนในแต่ละวัน นั้น

การชักชวนดังกล่าวนี้ ทำให้ประชาชนหลายพันคน รวมทั้งผู้ร่วมลงทุนในคดีนี้จำนวน 1,133 ราย หลงเชื่อส่งมอบเงินลงทุนไปยังกลุ่มผู้ต้องหากับพวก ทำให้ประชาชนทั่วไปสูญเสียเงินที่ลงทุนไป และได้รับความเสียหายเท่าจำนวนที่ไม่ได้รับกลับ จำนวน 227,452,365.05 บาท (สองร้อยยี่สิบเจ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นสองพันสามร้อยหกสิบห้าบาทห้าสตางค์)

ทั้งนี้ การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทางคดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง โดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหา จำนวน 31 ราย ในความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 และขอให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้เรียกทรัพย์สินและเงินต้นหรือราคาแทนผู้เสียหายจากผู้ต้องหาทั้ง 31 ราย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 9

โดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้มอบหมายให้นางนันท์นภัส เกยุราพันธุ์ ผอ.ส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 1 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ 133 แฟ้ม จำนวน 50,857 แผ่น พร้อมตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ทีมแชร์แม่มณีส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป.