สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ว่า องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกแถลงการณ์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แนะนำวัคซีน “อาร์21/เมทริกซ์-เอ็ม” พัฒนาโดยสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อวัดจากปริมาณในการใช้งานเพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย และบริษัทโนวาแวกซ์ของสหรัฐ


ทั้งนี้ อาร์21/เมทริกซ์-เอ็ม เป็นวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียตัวที่สองของโลก ซึ่งดับเบิลยูเอชโอแนะนำ ต่อจากวัคซีน “อาร์ทีเอส, เอส” หรือ “มอสกีริกซ์” (RTS, S/Mosquirix) ของบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์จากสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการแนะนำเมื่อปี 2564 โดยแกล็กโซสมิธไคลน์ใช้เวลานานกว่า 30 ปี พัฒนาวัคซีนดังกล่าว ด้วยเทคโนโลยีโปรตีนซับยูนิต และก่อนผ่านการรับรอง มอสกีริกซ์เป็นวัคซีนที่ดับเบิลยูเอชโอใช้เป็นวัคซีนนำร่อง ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่กลุ่มเป้าหมาย คือเด็กในทวีปแอฟริกา


ขณะที่วัคซีนอาร์21/เมทริกซ์-เอ็ม ผ่านการรับรองให้ใช้งานแล้ว โดยหน่วยงานสาธารณสุขของกานา ไนจีเรีย และบูร์กินาฟาโซ


อนึ่ง ดับเบิลยูเอชโอกำหนดเป้าหมายให้โลกมีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 75% ภายในปี 2573 แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย แต่ผลที่ได้ยังคงไม่เกิน 55%


ปัจจุบัน ประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อโรคมาลาเรีย ซึ่งพื้นที่เสี่ยงสูงสุดคือ ทวีปแอฟริกา ดับเบิลยูเอชโอจึงมีความหวังว่า การแนะนำวัคซีนที่เกี่ยวข้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 รายการ จะช่วยแบ่งเขาภาวะอุปทานตึงตัวของวัคซีนโรคมาลาเรีย ที่เป็นโรคติดเชื้อจากโปรโตซัวหรือปรสิต มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ


ผู้ป่วยส่วนใหญ่แสดงอาการภายในระยะเวลา 10-14 วัน หลังถูกยุงกัด อาการในเบื้องต้นคือไข้สูง หนาวสั่น และร่างกายซีด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นไตวาย ตับและปอดทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้เสียชีวิตได้.

เครดิตภาพ : AFP