เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายแพทย์จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ หรือท่านอ่อง ได้โพสต์คลิปเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ ถึงยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยระบุว่า “ยาต้านการแข็งตัวของเลือด”…โดยมากแพทย์จะสั่งให้กับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มที่จะเกิดก้อนเลือดหรือลิ่มเลือด เช่นผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่มีประวัติมีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว และผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้หรือผู้ป่วยติดเตียง…

ในที่นี้ผมจะเน้นไปที่ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดนะครับ มันเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ในการที่จะตรวจเช็คปริมาณการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอนะครับ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน (Warfarin) แพทย์จะต้องตรวจวัดค่าไอเอ็นอาร์ (INR) ทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อปรับเปลี่ยนขนาดการให้ยาให้เหมาะสม เพราะถ้าหากปริมาณยาน้อยจนเกินไป ผู้ป่วยก็มีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดได้เช่นกันนะครับ ถ้าให้ยาปริมาณมากเกินไป ผู้ป่วยก็เสี่ยงที่จะมีเลือดออกหรือมีภาวะสมองขาดเลือดได้…

“ผมอยากที่จะกระตุ้นเตือนให้แพทย์ด้วยกัน ช่วยกรุณาเอาใจใส่กวดขัน ดูแล และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือผู้ป่วยติดเตียงเป็นพิเศษหน่อยนะครับ! ด้วยความปรารถนาดี”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Chakriwat Vivacharawongse