เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่า ได้สั่งการให้ รฟท. ปรับแผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส) ที่ 2 โดยให้นำช่วง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 7,864 ล้านบาท ขึ้นมาดำเนินการในลำดับแรกๆ พร้อมกับช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เนื่องจากเป็นความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน  และทำให้การค้าชายแดนสะดวกมากขึ้น  ทั้งนี้เดิมช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับสุดท้ายของแผนการดำเนินงาน 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่าขณะนี้ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ได้ผ่านการพิจารณาความเห็นชอบจากคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. และเสนอมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแล้ว ส่วนอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 59,399 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683ล้านบาท และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ทาง รฟท. จะเสนอบอร์ด รฟท. พิจารณาในวันที่ 19ต.ค.66 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ในเดือน พ.ย.66 และเปิดประมูลทั้ง 4 เส้นทางได้ภายในปี 67

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้ง 4 โครงการมีความพร้อมแล้ว และเป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) แล้ว หาก ครม. เห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยตามแผนงานแต่ละเส้นทางจะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปี 70-72 อย่างไรก็ตามนอกจากนี้ได้เร่งรัดให้ผลักดันโครงการระบบรถไฟชานเมือง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) ส่วนต่อขยาย โดยจะเสนอเข้า ครม. พิจารณาภายในสิ้นปี 66 จำนวน3 เส้นทาง ซึ่งปัจจุบันผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด รฟท. แล้ว 1 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84  กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาท  

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท จะเสนอเข้าบอร์ด รฟท. พิจารณาในเร็วๆ นี้ ในส่วนของรูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยายที่เดิมจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) นั้น เบื้องต้นจะให้เปิดประมูลในส่วนของงานโยธาก่อน ส่วนการบริหารงานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา(O&M) นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือการลงนามสัญญา 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. เตรียมลงนามสัญญาเดือน ต.ค.66 และสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ยังมีประเด็นเรื่องการดำเนินงานกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งได้มอบนโยบายให้เร่งเคลียร์ทุกปัญหาให้จบภายในปี 66 เพราะเวลาไม่รอใครเดินหน้าตลอด

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการรับฟังการรายงานผลประกอบการของ รฟท. พบว่า ยังขาดทุน และมีหนี้สะสมกว่า 2 แสนล้านบาท มีจุดอ่อนเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นจุดที่จะช่วยเพิ่มรายได้ได้ จึงมอบให้พิจารณาหาบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ (Outsource) เข้ามาช่วย หรือตั้งทีมของ รฟท. ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้มอบให้ รฟท. ปรับเป้าหมายการทำกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)  เป็นบวก โดยต้องให้เกิดขึ้นในปี 67 (ไม่รวมหนี้สะสม) ซึ่งจะเร็วกว่าที่แผนฟื้นฟูกำหนดไว้ว่าไม่เกินปี 76 และในปี 68 ให้เพิ่มขึ้นเป็นกำไร โดยการที่จะทำให้ผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน ต้องลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้จากทั้งการขนส่งสินค้า และผู้โดยสาร

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางราง 3% ของปริมาณขนส่งสินค้าทั้งประเทศ มีรายได้จากการขนส่งสินค้าประมาณ 2พันล้านบาทต่อปี โดยให้หาวิธีเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางให้เป็น 30% หากทำได้รายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่การขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 2% ของการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ โดยให้ รฟท. ไปตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มตัวเลขได้อยู่ที่เท่าไหร่ อย่างไรก็ตามตนจะลงมาติดตามงาน รฟท. ที่ได้สั่งการไปทุก 3 เดือน ส่วนเรื่องการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน จะเร่งรัดให้ดำเนินการจัดหาฯ ภายในปีงบประมาณ 67 พร้อมทั้งให้เร่งปรับปรุงคุณภาพรถโดยสาร รวมถึงการบริการที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ส่วนเรื่องการปรับราคาค่าโดยสารที่ได้ปรับไปครั้งสุดท้ายเมื่อปี 38 นั้น ขอให้ รฟท. ทำคุณภาพให้ดีก่อน จากนั้นจึงจะมาว่ากันเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสาร.