“มองไกล เห็นใกล้” ไล่เรียงมาตั้งแต่ช่วงเหตุ “ลูกน้อง” เสี่ยใหญ่แห่งนครปฐม เปิดฉากยิงตำรวจหนุ่มตาย กลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต และยังไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ ตามด้วยเหตุเด็กวัย 14 ควง “แบลงค์กัน” กราดยิงคนกลางห้าง มีทั้งเจ็บทั้งตาย งานนี้ขยายผลจับคนขายปืน-เครื่องกระสุนหลายราย 

รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจไม่ได้เป็นข่าวดังมากนักคือ หนุ่มง้ออดีตแฟนสาวไม่สำเร็จ ก่อเหตุใช้ “ปืนไทยประดิษฐ์” แบบหักลำยิงฝ่ายหญิงดับ ก่อนยิงตัวตายตาม และเหตุล่าสุดคือ เซียนพนันยิงกันในบ่อนไก่ 

จะเห็นได้ว่า 2 จาก 4 เหตุการณ์ มี “ปืนเถื่อน” เชื่อมโยง 2 คดี…

จะว่าไปแล้ว การกวาดล้างปืนเถื่อนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วงปลายปี 2565 กรมการปกครองส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ ลงนามโดย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

แต่ไม่ทันจะคืบหน้าชัดเจนถึงการกวาดล้างปืนเถื่อนและปรับปรุง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ก็ดันมาเกิดเรื่องใหม่เสียก่อน

เหตุการณ์ เด็ก 14 ปี คือแรงกระเพื่อมสำคัญที่ตำรวจทั้งภูธร และนครบาล ต้องระดมกวาดล้างเป็นการใหญ่ ภาครัฐเองก็ขยับในมุมนโยบายการจำหน่ายปืน และการจัดประเภทอาวุธ ซึ่งข้อหลังนี้ คงต้องใช้เวลาถกเถียงกันอีกพักใหญ่ กว่าจะสะเด็ดน้ำและคลอดนโยบายออกมาให้เห็น

และหากขยับมาดูภาพกว้าง เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อมูลเปิดเผยจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบสถิติปี 2563 มีคดีเกี่ยวข้องกับปืนแบลงค์ประมาณ 200 คดี ปี 2564 มีจำนวน 800 คดี และปี 2565 มีจำนวน 1,500 คดี สะท้อนว่าคดีที่เกี่ยวข้องปืนแบลงค์กัน มีแนวโน้มทะยานขึ้นทุกปี

กลับมาดูข้อมูลเว็บไซต์ World Population Review ที่เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลกประจำปี 2022 หรือปี 2565 พบประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2,804 คน โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน

ไล่เรียงมาถึงตรงนี้ งานกวาดล้างปืนเถื่อน-แบลงค์กันของฝ่ายตำรวจเพียงอย่างเดียวอาจไปพอ คงต้องหวังพึ่งการปรับปรุงกฎหมายทั้งหมด รวมถึงการนำเข้า จัดจำหน่ายอาวุธปืน-สิ่งเทียมอาวุธให้รัดกุม อย่าให้ต้องเกิดเหตุสะเทือนขวัญซ้ำๆ อีกเลย

อหิงสา