เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ต.ค. ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการให้บริการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของระบบรถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต หลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบ ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินนโยบายดังกล่าวในทันที

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรก ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงกับพี่น้องประชาชน โดยค่ารถไฟฟ้าจะปรับลด จากราคาค่าโดยสารปัจจุบันที่เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลือเพียง 20 บาทตลอดสาย วันนี้ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันแรก นำร่อง 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 4 สถานี และ 2.โครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีประมาณ 100,000 คนต่อวัน จะสามารถเดินทางค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้แล้ว โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงจ่าย 20 บาทตลอดสาย และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย ทั้งคาดการณ์ว่า วันแรก (16 ต.ค. 66) จะมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 100,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นสายสีแดง 30,000 คน และสายสีม่วง 70,000 คน ส่วนผู้โดยสารที่เคยจ่ายค่าโดยสารไม่ถึง 20 บาท ก็จ่ายในราคาเดิม ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถจ่ายตั๋วโดยสารได้ทั้งระบบบัตร EMV และระบบออกบัตรโดยสาร

ส่วนการข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มีอยู่ 300 คนต่อวันนั้น ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่ใช้บริการสายสีแดงและสายสีม่วงจะข้ามระบบได้ เพียงจ่ายค่าโดยสารแค่ 20 บาทเท่านั้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามคาดว่า หลังจากใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายแล้ว ทำให้ผู้โดยสารสายสีแดงและสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะได้มีการประสานผู้ประกอบการรถเมล์ เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการรถเมล์นำมาป้อนผู้โดยสารใช้ระบบรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่แผนจะขยายการดำเนินการนโยบาย 20 บาทตลอดสายไปยังเส้นทางอื่นๆ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทาน ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการเร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละราย หันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกันทำได้ง่ายขึ้น ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเตรียมเสนอกระทรวงคมคมนาคม

ทั้งนี้ คาดว่าเสนอ ครม. พิจารณาภายในปี 66 หลังจากนั้นจะเข้าสู่การนำร่างกฎหมายพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปีกว่า ก่อนที่กฎหมายจะผ่านการพิจารณา และมีผลบังคับใช้ ซึ่งสามารถทำให้บัตรตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกันได้ทุกโหมดการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือ อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านจะเป็นกลไกนำไปเจรจากับเอกชนและจะสามารถจัดตั้งกองทุนหารายได้ชดเชยให้กับผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณต่อไป