“รู้หรือไม่” เรื่องใกล้ตัวของคนใจดี “เดลินิวส์ออนไลน์” ชวนติดตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป หรือแม้แต่ตัวเราเองก็อาจเคยทำ อย่างการให้อาหาร “สุนัขจร” กับความเป็น “เจ้าของ” สืบเนื่องจากแนวคำพิพากษาฎีกาที่ชี้ถึงความรับผิดชอบในฐานะ “เจ้าของ”

“เดลินิวส์ออนไลน์” สรุปโดยย่อจากแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 1639/2565 เรื่องเกิดจากโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 377 เนื่องจากสุนัขของจำเลยได้มากัดบุตรสาวจนถึงความตาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 300,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 500,000 บาท รวมเป็น 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ยื่นคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดหลายบท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายมีโทษหนักสุดจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และให้จำเลยชำระเงิน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับให้ยกฟ้อง และยกคำร้องคดีส่วนแพ่ง

อย่างไรก็ตาม ต่อมาโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า เด็กหญิงผู้ตายอายุ 2 ปี 11 เดือน เป็นบุตรสาวของโจทก์ผู้ร้องถูกสุนัขพันธุ์ผสมเพศเมียกัดตามร่างกายหลายแห่งจนถึงแก่ความตาย อีกทั้งก่อนเกิดเหตุสุนัขตัวดังกล่าวเคยกัดไก่ตาย 17 ตัว และเคยไล่กัดไก่ เป็ด โค กระบือ ของชาวบ้านหลายครั้ง

พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสุนัขที่กัดผู้ตาย โดยจำเลยได้เลี้ยงดู ให้อาหาร ให้สุนัขนอนในบริเวณบ้านจำเลยและให้คลอดลูกใต้ถุนบ้านจำเลยและเคยมอบลูกสุนัข ให้แก่คนที่มาขอ มีพยานเห็นมานานกว่า 5-6 ปี โดยพยานหลายปากเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยเลี้ยงดูสุนัขให้อยู่ในบริเวณบ้านและสุนัขมานอนใต้ถุนที่บ้านจำเลยเป็นประจำ

อีกทั้งจำเลยยังตั้งชื่อสุนัขเพื่อเรียกมากินข้าวที่จำเลยเบิกความว่า สุนัขนอนข้างบ้านจำเลย เป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งในชั้นสอบสวนที่จำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยให้อาหารไก่เวลาเช้าเย็น สุนัขดังกล่าวมากินข้าวด้วยเกือบทุกครั้งเป็นเวลา 2 ปี ที่จำเลยนำสืบและแก้ฎีกาว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสุนัขที่กัดผู้ตาย สุนัขดังกล่าวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ขัดกับพฤติการณ์ของจำเลยที่คอยเลี้ยงดูให้อาหารและให้ที่อยู่แก่สุนัข

ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่า สุนัขดังกล่าวเคยกัดไก่ของเพื่อนบ้านแต่ไม่มีผู้ใดเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสุนัข เพราะบุคคลที่เสียหายอาจไม่ติดใจเอาความหรือเพราะเพื่อต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และการไม่ปรากฏชื่อของจำเลยระหว่างมีการสำรวจข้อมูลสุนัขของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ใช่ข้อพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสุนัขที่กัดผู้ตายเช่นกัน

พยานหลักฐานคำแก้ฎีกาของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้พฤติกรรมของจำเลยบ่งชี้เห็นได้ชัดว่าจำเลยเลี้ยงดูสุนัขดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของสุนัข มิใช่เพียงการให้ความเมตตาแก่สุนัขจรจัดทั่วไป และสุนัขของจำเลยเป็นสัตว์ดุร้ายซึ่งเจ้าของต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษกว่าปกติธรรมดาแต่จำเลยมิได้ล่ามโซ่ ขังกรงไว้กับปล่อยปละให้สุนัขวิ่งไปทั่วหมู่บ้าน จนเป็นเหตุให้สุนัขของจำเลยกัดทำอันตรายแก่ชีวิตของผู้ตาย

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานเป็นควบคุมผู้ควบคุมสัตว์ปล่อยปละละเลยสัตว์นั้นเคี้ยวไปตามลำพังจนอันตรายแก่บุคคลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับให้บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในส่วนคดีแพ่งศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายโจทก์เป็นค่าปลงศพ 300,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมาย

“เดลินิวส์ออนไลน์” สอบถามเพิ่มเติมประเด็นดังกล่าวกับ ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เปิดเผยว่า จากแนวฎีกาต่างๆ ที่ตนเคยศึกษาพบว่า พฤติการณ์ของผู้ที่ให้อาหารสุนัขจรจัดและให้พักพิงหรือให้เข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณรั้วบ้าน มีการให้อาหาร ตั้งชื่อเรียก ด้วยพยานหลักฐาน ศาลจึงถือว่าบุคคลดังกล่าวตั้งใจเลี้ยงสุนัข จึงเป็นเจ้าของ ดังนั้น การที่สุนัขไปทำร้ายผู้อื่น เจ้าของสุนัขต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ต้องขอย้ำว่าหากสุนัขที่เลี้ยงไว้วิ่งออกไปนอกอาณาเขตบ้านแล้วกระโดด เห่าใส่ ทำให้คนตกใจ จนประสบอุบัติเหตุ แม้สุนัขจะไม่ได้เข้าไปกัดก็ตาม เจ้าของสุนัขก็ต้องรับผิดชอบ ด้วยข้อหาประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บ, บาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิต ดังนั้น ก่อนเปิดประตูบ้านต้องล่ามโซ่ หรือขังกรงไว้ ไม่ให้สุนัขออกไปจากบริเวณบ้านจนผู้อื่นเดือดร้อน มิเช่นนั้นจะมีโทษอาญาและทางแพ่งดังเช่นฎีกาดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการที่มีคนไปให้อาหารสุนัขจรจัดข้างทาง ข้างถนน แต่ไม่ได้ให้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้าน ในทางกฎหมายบุคคลดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขจรจัดนั้นด้วย.