เมื่อวันที่ 19 ต.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีนางสาวน้อมจิตร์ สังข์ด่านจาก ที่ปรึกษาการตรวจเงินแผ่นดินเป็นตัวแทนมารับหนังสือ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล มีปัญหามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้ง พ.ร.บ.เงินตรา และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยับยั้งโครงการดังกล่าว ตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

น.ส.รสนา กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ต้องมายื่น สตง. ให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว เพราะ 1.ผลได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลมาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะการบริโภค แต่ควรนำไปทำนโยบายที่ยั่งยืนและเกิดผลระยะยาวมากกว่า 2.น่าขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา เนื่องจากการแจกเงินดิจิทัล token ยังเกิดความสับสนว่าเป็นเงินตราสกุลใหม่ หรือเป็นสิทธิการใช้เงินแบบดิจิทัล ซึ่งอาจจะเป็นการสำแดงที่ไม่จริง สำแดงว่าเป็นเงินดิจิทัล แต่จริงๆ เป็นระบบเงินใหม่ 3.เพิ่มความสิ้นเปลืองแก่ประเทศโดยไม่จำเป็น โดยเห็นว่า การสร้างระบบใหม่อย่างบล็อกเชน เป็นการใช้เงินมหาศาล และหากทำโครงการนี้แล้วไม่ทำอะไรต่อเนื่อง เป็นการเสียเงินเปล่า ทั้งที่ดิจิทัลวอลเล็ตมีอยู่แล้ว และการจะนำเงินภาษีมาใช้เพื่อทำบล็อกเชน ก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

4.หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน โดยระบุว่า การจะใช้เงินแผ่นดิน จำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ที่ระบุว่า จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการงบฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภายอมรับ แต่การที่รัฐบาลจะแจกเงินตั้งแต่เดือน เม.ย. แสดงว่าจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่งบฯ 5.ซุกหนี้สาธารณะ ที่ดูจากรัฐบาลประกาศ จะใช้ธนาคารออมสินกู้เงินแทน แล้วนำเงินมาใช้ เห็นว่าน่าจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและซุกหนี้สาธารณะ และเชื่อว่าธนาคารออมสินก็ไม่น่าจะมีหลักการในลักษณะดังกล่าว และ 6.ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 9 วรรค 3 โดยรัฐบาลจะต้องไม่ใช้งบฯ แผ่นดินไปใช้ในการหาเสียง ซึ่งการแจกเงินให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป คิดว่าเป็นการหาเสียงทางการเมือง เปรียบเสมือนกับการตกเขียว เด็กอายุ 16 ปี อีก 4 ปีข้างหน้าก็อายุ 20 ปี และการแจกเงินให้คนทั้งหมดโดยไม่เลือกน่าจะขัดต่อระเบียบและกฎหมาย

“ที่ผ่านมา เราเห็นประชาชนและนักวิชาการ ออกมาคัดค้านแต่รัฐบาลไม่ฟัง เพราะฉะนั้นจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพราะถ้าเกิดความเสียหายจริงและขัดกฎหมาย เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่สามารถยุติได้ เราควรจะล้อมคอกก่อนวัวหาย ไม่ใช่วัวหายแล้วค่อยไปจับคนมาติดคุก ซึ่งในกรณีเรื่องจำนำข้าว เราก็เห็นว่ารัฐมนตรีติดคุกถึง 48 ปี จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อเงินเราก็สูญสลายไปหมดแล้ว ในฐานะประชาชนเจ้าของภาษี ที่รัฐบาลต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน” น.ส.รสนา กล่าว 

ทั้งนี้ น.ส.รสนา ยังได้ขึ้นไปหารือกับผู้แทน สตง. และเปิดเผยว่า สตง. แจ้งว่าจะต้องรอให้มีมติ ครม. ก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่า จะดำเนินโครงการอย่างไร จะนำเงินส่วนไหนมาใช้จ่าย หากมีรายละเอียดก็จะเข้าสู่การตรวจสอบ ซึ่ง สตง. ก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูโครงการนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่เรามาร้องเพื่อให้ สตง. ทำตามอำนาจหน้าที่ ก็อาจจะเป็นทางลงให้กับรัฐบาลก็ได้ เพราะหาเสียงมา หากไม่ทำหรือถอยก็จะเสีย แต่หากการตรวจสอบออกมาแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการถกเถียงด้วยข้อกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ น.ส.รสนา จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธาน กกต. และประธาน ป.ป.ช. ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย.