กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดี อยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เนื่องจากป่วยด้วย 4 โรครุมเร้า ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พังผืดในปอด ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อม แพทย์และราชทัณฑ์ลงความเห็นว่าต้องมีการรักษาต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะย้ายนายทักษิณไปรักษาที่ รพ. อื่นๆ หรือส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันนายทักษิณ อยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน และกำลังจะเข้าสู่ 60 วัน ในวันที่ 22 ต.ค. นี้ อีกทั้งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทักษิณ ยังถูกแพทย์นำตัวจากรถเข็นเปลนอนผู้ป่วยไปทำการซีทีสแกนและเอ็มอาร์ไอ จึงเป็นที่ตั้งข้อสังเกตของสังคมว่า ลักษณะคล้ายจะเป็นการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ และอาจเป็นสาเหตุของการขยายระยะเวลาการนอนพักรักตัวนอกเรือนจำออกไปอีก หรือเกินกว่า 60 วัน เพื่อมุ่งสู่ 120 วัน อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอน 60 วันดังกล่าว หากแพทย์มีความเห็นชอบให้ขยายเวลาการรักษา จะต้องรายงานผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อน ผบ.เรือนจำฯ ขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอขอการอนุมัติจากปลัดกระทรวงยุติธรรม ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

จับตาต่อตั๋ว ‘ทักษิณ’ นอน รพ. เกิน 60 วัน นับถอยหลัง 6 เดือนลุ้นผ่านเกณฑ์พักโทษ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. มีรายงานว่า นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานความเห็นจากแพทย์ของ รพ.ตำรวจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมระบุเหตุผลความจำเป็นของนายทักษิณ เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุดหลังได้รับการผ่าตัด จึงยังคงต้องรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ โดยอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ต่อไป อย่างไรก็ตาม นายสหการณ์ จึงได้ลงนามให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ ตามความเห็นแพทย์ และนำเสนอความเห็นแพทย์ไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรมรับทราบตามขั้นตอน ส่วนระยะเวลาที่นายทักษิณจะต้องรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ หลังจากนี้นั้น จะขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งต้องมีการพิจารณาต่อไป

ต่อมาเวลา 16.52 น. กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน โดยระบุว่า กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้นายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกครบ 60 วัน ในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งความเห็นจากแพทย์โรงพยาบาลตำรวจผู้ทำการรักษา เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนรายละเอียดของการเจ็บป่วยนั้น เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย

ทั้งนี้ รายละเอียดตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ระบุว่า การพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนการพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ และการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

กรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า ดังนั้น ในกรณีนายทักษิณที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 60 วัน ขณะนี้อธิบดีได้มีหนังสือเห็นชอบ พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง รายงานให้ปลัดกระทรวงทราบตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยกรมราชทัณฑ์มีสถิติสะสมการส่งผู้ต้องขังป่วยออกรักษาพยาบาลนอกเรือนจำนานเกิน 30 วันขึ้นไป ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565-ปัจจุบัน รวม 149 ราย แบ่งเป็น เกินกว่า 30 วัน 115 ราย เกินกว่า 60 วัน 30 ราย และเกินกว่า 120 วัน 4 ราย (ข้อมูลสถิติกองบริการทางการแพทย์).