ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (25 ต.ค.) พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้ใดยังไม่ทราบว่าพ.ร.บ.ดังกล่าว คืออะไร ทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” จะสรุปให้เข้าใจอย่างง่ายๆว่า ปกติการกำหนดโทษทางอาญา กรณีผู้กระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีและอาจถูกลงโทษจำคุก หรือบางกรณีถูกลงโทษปรับ แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นมีฐานะยากจนไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ก็จะถูกนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับในเรือนจำ กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัว และทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวความคิดว่า ควรต้องมีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษเกินสมควร ดังนั้นจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ขึ้นใช้บังคับ เพื่อเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็น “โทษปรับเป็นพินัย” คือ เงินค่าปรับที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรง และโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงหรือไม่กระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

โดยการกำหนดให้ความผิดทางพินัยมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาล กำหนดเท่านั้น ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ซึ่งไม่มีสภาพบังคับเป็นโทษอาญา และลดทอนโทษอาญาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งปรับปรุงระบบโทษปรับให้มีประสิทธิภาพ

ดีเดย์25ต.ค.66! ผบ.ตร.สั่งตำรวจทั่วประเทศเรียกปรับตามพินัยประชาชน ไม่มีผลทางอาญา

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญ คือ

(1) กำหนดให้เปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ จำนวน 204 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้เป็น “ความผิดทางพินัย” และผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระ “ค่าปรับเป็นพินัย” ให้แก่รัฐ โดยไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากร

(2) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ แต่ถ้าไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป

(3) การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด โดยผู้กระทำความผิดอาจขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยเป็นรายงวดก็ได้ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ สามารถร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้

(4) ในกรณีที่กระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทาน หรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้กระทำความผิดสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้

(5) ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยได้

ส่วนการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นโทษปรับเป็นพินัยนั้น 3 บัญชี ทั้งหมด 204 พ.ร.บ. ยกตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ 2522 ,พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ 2550 ,พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ 2545 ,พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 ,พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ 2522 ,พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ,พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ,พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ 2490 ,พระราชบัญญัติกฎหมายยาเสพติด เป็นต้น.