เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกันจัดเวทีระดมความเห็นนักวิชาการและภาคประชาสังคม ต่อนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ ตี 4 พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไว้อาลัยกับความสูญเสียจากความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

น.ส.ภัทรวดี ซุ่นสั้น ลูกสาวของ ด.ต.อนันต์ ซุ่นสั้น หรือจ่าฉิ้ม ผบ.หมู่งาน สส.สภ.คลองเต็ง อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุคนเมาแล้วขับ ที่จังหวัดตรังเมื่อหกปีก่อน กล่าวว่า เมื่อหกปีที่ก่อน รถกระบะเมาแล้วขับพุ่งชนคุณพ่อของตนและอาสากู้ชีพ บนถนนสายคลองเต็ง-เมืองตรัง ทำให้อาสากู้ชีพเสียชีวิตทันที 4 ราย ส่วนคุณพ่อเสียชีวิตเป็นรายที่ 5 ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกผู้ต้องหา 4 ปี ปรับ 3,400 บาท แต่ทราบว่าติดคุกจริงแค่ปีกว่าๆ ก็ออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติ นี่คือความยุติธรรมครอบครัวเหยื่อได้รับ มันเจ็บปวดและฝังลึกอยู่ในใจของทุกคน ล่าสุดจึงผิดหวังที่รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน แต่กลับจะขยายเวลาเพิ่มการเมา เพิ่มจำนวนเหยื่อมากขึ้น ดังนั้นขอให้หยุดนโยบายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาจาก Western Australia โดยใช้ข้อมูลระหว่าง ค.ศ. 1991-1997 ซึ่งกฎหมายที่ออกมาใหม่ในขณะนั้น อนุญาตให้โรงแรมขอใบอนุญาตเพื่อขยายระยะเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ พบว่า มีจำนวนเคสทำร้ายร่างกาย และอุบัติเหตุทางถนนที่สัมพันธ์กับการดื่มในโรงแรมที่ขอขยายเวลา สูงกว่าโรงแรมที่ไม่ได้ขออนุญาต ขณะที่การศึกษาของนอร์เวย์ ที่มีการกำหนดเวลาเปิดปิดผับบาร์ 18 เมืองทั่วประเทศ ระหว่าง ค.ศ. 2000-2010 พบว่า โดยเฉลี่ยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ขึ้น 1 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 16% แต่เมื่อลดเวลาจำหน่ายลง 1 ชั่วโมง ก็ลดจำนวนการทำร้ายร่างกายลงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาจาก Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่อนุญาตให้ผับบาร์ใน 2 โซนนิ่ง คือ Leidseplein และ Rembrandtplein ขยายเวลาจำหน่ายขึ้น 1-2 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2019 พบว่า จำนวนอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น 34% เมื่อเปรียบเทียบกับโซนที่ไม่มีการขยายเวลาจำหน่าย  

นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง รพ.เชียงใหม่ราม กล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 นั้น น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน มีคนเที่ยวเยอะขึ้น จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ผลที่จะตามมาคืออุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งจะต้องเก็บสถิติทั้งก่อน และหลังเพื่อเปรียบเทียบกันแน่นอน ที่ผ่านมา ช่วงโควิดอุบัติเหตุลดลงแน่นอน เพราะไม่อนุญาตให้เปิดผับดึก แต่พอคลายล็อกแล้วพบว่า อุบัติเหตุมากขึ้นชัดเจน เกินครึ่งของผู้ป่วยที่เข้าห้องฉุกเฉินมาจากการดื่มแล้วขับ ทำให้เราได้ผู้พิการ บาดเจ็บมากขึ้น ต้องใช้งบประมาณในการรักษาเยอะขึ้น ต้องใช้แพทย์หลายระบบมารักษาร่วมกัน เพราะการดื่มเหล้าจะทำให้ระบบประสาทช้าลง ทำให้การควบคุมรถ การจัดสินใจช้าลง ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และรุนแรงกว่าเดิม เพราะไม่สามารถประคอง หรือปกป้องตัวเองได้ จึงอยากให้รัฐศึกษาผลดี ผลเสียก่อน ที่สำคัญคือดื่มต้องไม่ขับ อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐทบทวนผลดีผลเสียก่อน  

นายธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ข้อมูลของกรมควบคุมโรคปี 2566 ถึงเดือน ส.ค. มีคนดื่มแอลกอฮอลขับรถเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิต 50,164 ราย เฉพาะ เม.ย. สูงถึง 9,617 ราย เทียบกับ เม.ย. 2565 อยู่ที่ 4,850 ราย ส่วนปีใหม่ 2566 เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ 15.1% ที่น่าห่วงคือเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับบาดเจ็บเข้า รพ. 624 ราย แต่ดำเนินคดีไม่ถึง 10% ส่วนช่วงเวลาเกิดเหตุในปี 2565 มากสุดคือ 18.00-21.00 น. และหลังปิดสถานบันเทิง ตั้งแต่ เวลา 00.01-03.00 น. ลากไปถึง 06.00 น. เกิดอุบัติเหตุ 209 ครั้ง สร้างผลกระทบกับผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวัน ล่าสุดจากผลสำรวจของนิด้าโพล เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 41.67% เห็นว่าการเปิดผับถึงตี 2 เหมาะสมแล้ว ไม่กระทบกับผู้อื่นด้วย ดังนั้น รัฐต้องทบทวนนโยบายเปิดผับเวลาตี 4 ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง.