เมื่อวันที่ 1 พ.ย. คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จัดงานแถลงข่าวประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประเภท”รวมเรื่องสั้น”ประจำปี 2566 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ เป็นประธาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 10, C asean อาคาร CW Towerพร้อมด้วย  

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองประธานศูนย์ ซี อาเซียน อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหราชอาณาจักร ซึ่งการจัดงานครั้งนี้สนับสนุนโดยบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ,มูลนิธิเอสซีจี ,ปตท. , บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทางด้าน ดร.สุเมธ  กล่าวว่า รางวัลซีไรต์ ถือกำเนิดมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 45 ปีแล้วโดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดแต่ละปี โดยปี 66 นี้ หนังสือรวมเรื่องสั้นเข้าประกวดจำนวน 64 เล่ม การคัดเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ โดยคณะกรรมการคัดเลือกรวมเรื่องสั้นรอบแรก จำนวน 17 เล่มด้วยกัน และพิจารณารอบคัดเลือก จำนวน 7 เล่ม คณะกรรมการตัดสินวรรณกรรมอาเซียนหรือซีไรต์ ประจำปี 2566 มีความเห็นว่า รวมเรื่องสั้นFamily Comes First  ด้วยรักและผุพัง โดยนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ สำนักพิมพ์แซลมอน ซึ่งเล่าเรื่องคนไทยเชื้อสายจีนในมุมมองใหม่ โดยผู้เขียนใช้เป็นเครื่องมือเชิงคำถามต่อจารีตประเพณี ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงค่านิยมบางประการ เช่น ค่านิยมเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ มายาคติของสายเลือด ซึ่งตัวละครตกอยู่ในกับดักของประเพณี ผู้หญิงถูกกดทับ ด้วยพันธนาการ ความเศร้าหม่น ประเพณี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวใหญ่ได้ล่มสลายลง และสร้างบาดแผลให้กับครอบครัว และก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม

แต่กระนั้นในความผุพังก็มีความรักเป็นเครื่องผูกพัน ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความเป็นจีน ในวิธีการเขียนที่หลากหลาย ทั้งแนวสมจริง แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านตีความได้หลายนัยยะ การใช้ภาษาที่เอื้อต่อการตีความ เช่น การใช้สีแดง เพื่อสื่อสารความหมายของความขัดแย้ง ด้วยสีแห่งความมงคลและสีแห่งความตายในบรรยากาศของความลึกลับ นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารนอกตัวบท เช่น การออกแบบหน้าปกให้มีชื่อเรื่องเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ การใช้อักษรจีนเป็นส่วนประกอบของตัวบท ช่วยสื่อนัยของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างรากเหง้าทางชาติพันธุ์กับความเป็นสมัยใหม่ คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ รวมเรื่องสั้น Family Comes First ด้วย รักและผุพัง ของนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2566        

รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการลงมติเอกฉันท์ด้วยลักษณะงานเขียนเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่พูดถึงคนไทยเชื้อสายจีน แต่สามารถดึงเราให้เข้าสู่ปัญหาร่วมสมัย เช่น ความรุนแรงในครอบครัว สังคมสูงวัย และผู้สูงอายุที่มีภาวะอัลไซเมอร์ เล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์ ตีความได้หลายนัยยะ มีความเป็นอุปมา ตัวงาน สามารถดึงเราสู่โครงเรื่องที่ตรึงผู้อ่านไว้กับเรื่องราวต่างๆ ผู้เขียนเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก สามารถทำให้เราตีความได้มากมาย ทำให้ครุ่นคิดถึงปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว 

ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาครอบครัวและจารีตประเพณีต่าง ๆ ผู้เขียนทำให้เราตั้งคำถาม และมองความสมดุลกันระหว่างการรักษาจารีตประเพณี ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งปัญหาช่องว่างระหว่างวัย  คนรุ่นเก่าที่ต้องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาตั้งคำถามกับแนวปฏิบีติคนรุ่นก่อน ผลงานมีความหลากหลายในการนำเสนอ ทำให้เรารู้สึกถึงความแปลกใหม่ ทำให้ผู้อ่านติดตามจนจบเล่ม ตนได้อ่านเรื่องสั้นจนจบในคราวเดียว เล่มนี้เขียนได้อย่างมีชั้นเชิง ถือเป็นผู้ที่มีศิลปะการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ รูปเล่มมีความละเอียดในการออกแบบ ให้ความสนใจกับตัวอักษร กราฟฟิกต่างๆ มีความละเอียดละเมียดละไมในการสร้างสรรค์ มีความสอดคล้องกันทั้งเล่ม ทั้งสี คาแรคเตอร์ตัวอักษร ดึงความสนใจผู้อ่าน ถ้าผู้อ่านสังเกตมีสัญลักษณ์ซ่อนอยู่มากมายในตัวหนังสือเล่มนี้.