เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต โจทก์ ยื่นฟ้อง ร.ต.อ.ยอดฤทธิ์ ลางคุลเสน อดีต รอง สวป.สน.ห้วยขวาง กับพวกรวม 6 คน

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้ง 6 ซึ่งเป็นตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีน จำเลยที่ 2 สังเกตเห็นรถยนต์มีลักษณะต้องสงสัย จึงส่งสัญญาณให้จอดเพื่อให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ทำการตรวจต้น โดยมีจำเลยที่ 1-3 อยู่ร่วมกันในบริเวณตังกล่าวพบว่า กลุ่มคนโดยสารมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3 อัน ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามน้ำเข้ามาใน ราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติศุลกากร และเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถแสดงหนังสือเดินทาง (Passport) หรือหลักฐานอื่นใดว่าได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

จากนั้นจำเลยที่ 1-6 ได้ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงินสดจำนวน 27,000 บาท จากนาย ป. ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนต่างชาติข้างต้น เพื่อให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี นาย ป. จึงจำยอมส่งมอบเงิน จำนวน 27,000 บาท ให้กับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1-2 จึงสั่งให้ปล่อยตัวนาย ป. กับพวกออกจากจุดตรวจไปโดยไม่ได้ดำเนินการตมกฎหมายกับนาย ป. กับพวกแต่อย่างใด ขอให้ลงโทษพวกจำเลยตามความผิด และขอให้สั่งริบเงินจำนวน 27,000 บาท ที่จำเลยที่ 1-6 ได้มาจากการกระทำความผิดให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางคดี พิเคราะห์ว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดหรือร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนาย ป. ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานสำคัญ เบิกความสอดคล้องกับบันทึกคำให้การที่ได้ให้การไว้ต่อหนักงานสอบสวน มีภาพถ่ายในโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยแจ้งว่า พยานกับพวกทำผิดกฎหมาย คือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง และไม่พกพาหนังสือเดินทางต้องถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจอาจถูกควบคุมตัวไว้ 2-3 วัน หรืออาจถูกจำคุก พยานพยายามพูดคุยต่อรองให้พวกจำเลยปล่อยตัวพยานกับพวก จนในที่สุดพวกจำเลยได้บอกให้พยานจ่ายเงินกรณีที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3 อัน อันละ 8,000 บาท และพยานกับพวก 3 คน ไม่พกหนังสือเดินทางอีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัวพยานจึงจ่ายเงินจำนวน 27,000 บาท ให้เจ้าพนักงานตำรวจคนดังกล่าวไป

พยานสามารถจดจำใบหน้าเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้ามาพูดคุยต่อรองกับพยานได้ 3 คน คือ จำเลยที่ 2-4 นอกจากนี้ ขณะที่มาเบิกความเป็นพยานที่ศาล นาย ป. ได้ชี้ตัวจำเลยที่ 2-4 ผ่านระบบประชุมทางจอภาพได้ถูกต้องแม่นยำ

ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะอ้างว่าขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่รถยนต์สายตรวจห่างออกไป 30 เมตร ไม่ได้เข้ามาพูดคุยหรือรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ขณะตรวจค้นตัวนาย ป. จำเลยที่ 3 เดินไปหาจำเลยที่ 1 เพื่อรายงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการทราบ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 บอกว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ดุลพินิจตัดสินใจได้ เพราะจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าชุดเหมือนกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ย่อมต้องรับรู้และรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้

ด่วน! ‘ตร.ห้วยขวาง’ รับแล้วรีดเงินดาราสาว ‘อันยู๋ชิง’ 2.7 หมื่นจริง ก่อนแบ่งกันเปรมคาด่าน

ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ตรวจค้นตัวกลุ่มผู้เสียหาย ประกอบกับการที่ นาย ป. ตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 4 ที่ขออนุญาตศาลถามว่า ระหว่างที่นาย ป. พูดคุยเจรจาอยู่กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 4 เดินไปเดินมาและบางครั้งก็เข้ามาพูดกับนาย ป. กับพวกว่าคนสิงคโปร์เดินทางเข้าประเทศไทยต้องขอวีซ่า จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 รับรู้และมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย

การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173

สำหรับจำเลยที่ 5-6 ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่า จำเลยที่ 5 มีหน้าที่คัดกรองรถต้องสงสัยเพื่อส่งต่อให้เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหลัง จำเลยที่ 5 เป็นผู้เรียกให้รถยนต์คันที่ผู้เสียหายทั้งสี่นั่งมาเพื่อขอตรวจค้น เมื่อส่งสัญญาณให้รถคันดังกล่าวจอดแล้ว ดาบตำรวจ อ. ได้รับรถคันดังกล่าวไปดำเนินการต่อ โดยที่จำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดที่รับผิดชอบต่อไป ไม่ได้เดินไปที่จุดตรวจที่อยู่ด้านหลัง จนกระทั่งเลิกจุดตรวจ

จากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะบ่งซี้ว่าจำเลยที่ 5 เข้าไปมีส่วนร่วมใกล้ชิดในการกระทำผิดที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีจำเลยที่ 4 ให้การไว้ว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 66 เวลา 00.45 น. จำเลยที่ 5 ได้นำเงินสดจำนวน 3,000 บาท มามอบให้แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเงินอะไร เห็นว่า ลำพังเพียงข้อเท็จจริงเรื่องเงินนี้ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าเป็นเงินอะไรได้มาอย่างไรจึง ไม่อาจนำข้อเท็จจริงส่วนนี้เพียงอย่างเดียวมาพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลยที่ 5 ได้

ส่วนจำเลยที่ 6 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 6 เป็นคนแจ้งให้กลุ่มผู้เสียหายลงจากรถและทำการตรวจค้น ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพ จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 จึงห้ามไม่ให้ถ่ายภาพและขอให้ลบข้อมูลออกจนเกิดการโต้เถียงกัน จนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้เดินเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มผู้เสียหายแทน จำเลยที่ 6 จึงแยกตัวออกมาทำการตรวจค้นรถอยู่บริเวณฝั่งเกาะกลางถนนห่างออกไปประมาณ 30 เมตร จนถึงเวลา 03.15 น. เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่ปรากฏไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 6 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามฟ้องเช่นเดียวกัน

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 5 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5-6 ริบเงิน 27,000 บาท ที่จำเลยที่ 1-4 ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการคดีนี้ ให้ตกเป็นของแผ่นดินหากจำเลยที่ 1-4 ไม่สามารถส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวได้ เพราะเหตุว่าโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่นให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชำระเงิน 27,000 บาท.